The AI Regulatory Landscape: Navigating Current and Future Framework

The AI Regulatory Landscape: Navigating Current and Future Framework

งาน SCBX Unlocking AI EP 10: Responsible AI in Action: From Regulation to Real-World Impact

“พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” 

วาทะดังกล่าวไม่เพียงเป็นวาทะเด็ดประจำโลกของซูเปอร์ฮีโร่ แต่ยังเข้ากับโลกยุคปัจจุบันที่ AI มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนแทบทุกด้าน และหากใช้มันถูกวิธี จะนำมาซึ่งสิ่งดีๆ ตามมา

แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ หากใช้ผิดวิธี หายนะก็อาจเกินขึ้นได้เช่นกัน ทุกคนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยความรับผิดชอบด้วย

ในงาน SCBX Unlocking AI EP.10 ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Responsible AI in Action: From Regulation to Real-World Impact มีหัวข้อเสวนาน่าสนใจหลายหัวข้อ โดย Session แรกของงานได้ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA มาบรรยายเรื่อง “The AI Regulatory Landscape: Navigating Current and Future Framework” 

SCBX สรุปสาระสำคัญของเสวนาครั้งนี้มาให้ได้อ่านกันแล้ว ดังต่อไปนี้

  • หลายคนอาจคิดว่าประเทศไทยตามหลังมหาอำนาจเรื่องการใช้เทคโนโลยี แต่รู้หรือไม่ว่าไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับ AI ขึ้นมาก่อนจะมี ChatGPT เสียอีก แต่ตอนนั้นหลายคนคิดว่ายังไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วน จนกระทั่งพอทุกคนได้เห็นว่า ChatGPT ทำอะไรได้บ้าง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น
  • ร่างกฎหมายเกี่ยวกับ AI ที่ว่านั้นมี 2 ร่างคือ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการที่ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และ (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย จัดทำโดย ETDA ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • แต่เพราะร่างกฎหมายไว้ก่อน ChatGPT จะเกิดขึ้นทำให้ยังบังคับใช้จริงไม่ได้ ต้องปรับแก้ใหม่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าวิธีปรับแก้ที่ดีที่สุดคือการรวมสิ่งที่ดีจากทั้ง 2 ร่างนี้เข้าด้วยกัน
  • ดร.ศักดิ์ เผยผลการสำรวจที่พบว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI เป็นอันดับที่ 37 ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว แต่ในเชิงการนำ AI ไปใช้งานจริงกลับพบว่า มีเพียง 86 หน่วยงานในประเทศ คิดเป็น 15.2% ที่ใช้งานอย่างจริงจัง ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย
  • IPOS AI MONITOR 2024 ยังสำรวจพบว่าคนไทยมีความเชื่อใจบริษัทที่นำ AI มาใช้งาน ว่าจะไม่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาไปใช้ในทางไม่ดี จัดว่าเป็นประเทศที่โลกสวยเป็นอันดับ 1 ของโลกทีเดียว แต่แน่นอนว่าการไว้ใจ AI มากเกินไปย่อมไม่ใช่เรื่องดี

How much do you agree or disagree with the following? I trust that companies that use artificial intelligence will protect my personal data.

Source: Ipsos AI Monitor 2024
Source: Ipsos AI Monitor 2024
  • ดร.ศักดิ์ เล่าว่าหน้าที่หลักของ ETDA คือการหาวิธี Implement ให้คนไทยสามารถนำ AI ไปใช้งานจริงได้อย่างปลอดภัย สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และยังเป็นหน้าที่ของ ETDA ในการส่งเสริมให้ทุกคนใช้อย่างมีจริยธรรมและจรรยาบรรณด้วย
  • สำหรับหลักจริยธรรมในการใช้งาน AI นั้นมี 7 ข้อที่ควรต้องพึงปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
  1. ใช้งานอย่างเป็นธรรม ไม่ใช้อย่างอคติ หรือเลือกปฏิบัติ 
  2. สามารถใช้งานแล้วอธิบายวิธีใช้งานอย่างโปร่งใสได้
  3. มีธรรมาภิบาล หากระบบ AI ที่ใช้ก่อให้เกิดความเสียหายด้านใดด้านหนึ่ง ก็ต้องมีความรับผิดและความรับผิดชอบด้วย
  4. ปกป้องความเป็นส่วนตัว ให้ความสำคัญเรื่องลิขสิทธิ์ ที่มาที่ไปของแหล่งข้อมูลต้องถูกกฎหมาย ไม่ละเมิดงานของใคร
  5. ใช้งานด้วยความปลอดภัย ใช้งานให้มีความน่าเชื่อถือ
  6. ใช้งานโดยคำนึงถึงผลกระทบและประโยชน์ต่อสังคม
  7. อย่าให้ AI เป็นฝ่ายควบคุมมนุษย์ มนุษย์ต้องมีอิสระในการใช้งาน และมีสิทธิ์ในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ในขั้นสุดท้าย
  • ดร.ศักดิ์ ยังกล่าวว่าหากต้องการสร้าง AI Governance ภาครัฐสามารถทำได้ว่ามี 2 อย่างคือการออกกฎหมายกำกับดูแลอย่างจริงจัง และให้คำแนะนำกว้างๆ เป็นกรอบในการใช้  ซึ่งหากอยากกำกับดูแลให้ผู้คนใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ ก็ควรทำทั้ง 2 อย่างนี้ควบคู่กัน
  • สำหรับการออกกฎหมาย แม้จะยังไม่มีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการใช้ AI อย่างเป็นทางการ แต่อย่าลืมว่ายังมีกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้กำกับดูแลได้ไม่ต่างกัน เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมาย PDPA กฎหมายคุ้มครองเจ้าของเทคโนโลยี พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่การใช้กฎหมายก็ต้องคำนึงด้วยว่า แต่ละฉบับมีช่องโหว่อะไรบ้าง หากเจอกรณี ‘เทาๆ’ เราสามารถตีความได้ถึงขั้นไหนบ้าง
  • หนึ่งในปัญหาที่หลายคนเจอก็คือ การนำ AI ไปใช้สร้าง Fake News หรือนำไปหลอกลวงผู้อื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง และยอมรับว่าปัจจุบันกฎหมายยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง 
  • ไม่เพียงแค่ประเทศไทยที่ตื่นตัวเรื่องกฎหมายหรือนโยบายกำกับดูแล AI แต่หลายประเทศ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจก็พยายามหาวิธีกำกับดูแลที่แตกต่างกันไป เช่น
    • สหภาพยุโรป พยายามวางแนวทางการกำกับดูแลการนำผลิตภัณฑ์ AI เข้ามาในตลาด และพยายามควบคุมการใช้งาน AI โดยพิจารณาจากความเสี่ยงตั้งแต่น้อยไปมาก
    • สหรัฐอเมริกา ไม่เคยมีกฎหมายควบคุม AI มาก่อน แต่ในยุคสมัยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีการออกคำสั่งให้จับตาดูวิวัฒนาการของ AI อย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมมันอย่างจริงจัง ข้อน่าสังเกตก็คือ ผู้บริหาร Tech Company รายใหญ่ๆ ต่างออกมาบอกให้รัฐบาลควบคุม AI อย่างจริงจังด้วย เช่น อีลอน มัสก์ จาก Tesla และ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก จาก Meta
    • อังกฤษ พยายามชวนหลายประเทศลงนามเรื่อง AI Safety เพื่อวางแนวทางควบคุมความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีที่อาจเปลี่ยนแปลงโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้
    • ประเทศจีนอาจไม่มีกฎหมายกำกับดูแล AI โดยตรง เพราะเน้นส่งเสริมให้พัฒนาและใช้งานในหลายด้านมากกว่า แต่ก็มีหน่วยงานตรวจสอบอยู่ห่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการใช้ AI แล้วส่งผลด้านลบต่อพรรคคอมมิวนิสต์
  • ดร.ศักดิ์เล่าถึง ธรรมาภิบาลในการประยุกต์ใช้ AI (AI Governance)  ว่าคือ หลักการกำกับดูแลการปฏิบัติงานในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ AI โดยจัดให้มีมาตรการในการกำกับดูแลผ่านการกำหนดนโยบาย ขั้นตอนปฏิบัติ และเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ 
Source: ETDA
Source: ETDA
  • AI governance เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการกำกับดูแลภายในองค์กร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ Data Governance เพราะ AI จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการสอนและประมวลผล นอกจากนี้ AI Governance ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ IT Governance โดย AI Governance ให้ความสำคัญเพิ่มเติมในประเด็นของความสอดคล้องตามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI ethical principle)
  • ดร.ศักดิ์ยังเผยอีกว่า ETDA วางกรอบการทำงานด้าน AI เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานอย่างมีธรรมาภิบาลภายใต้ 3 องค์ประกอบหลัก คือ 
    • 1.กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล 
    • 2.กำหนดกลยุทธ์การประยุกต์ใช้
    • 3.การกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ AI 
Source: ETDA
Source: ETDA
  • สำหรับกรอบการทำงาน รวมถึงไกด์ไลน์ทั้งหมดนี้ สามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้อย่างละเอียดผ่านเว็บไซต์ของ ETDA โดยจะออกไกด์ไลน์ใหม่ๆ ให้ได้ศึกษาทุกเดือน และเล่าออกมาให้เข้าใจง่าย ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนมองเห็นแนวทางคร่าวๆ ในการใช้งานที่ตรงกันต่อไป
  • “วันหนึ่งเราจะมีกฎหมายกำกับดูแล AI แน่นอน แต่ระหว่างที่รอให้วันนั้นมาถึง เราต้องเตรียมองค์กร เตรียมสังคมให้พร้อมวันนั้นด้วย ให้แน่ใจว่าสังคมจะเผชิญความเสี่ยงในการใช้งาน AI น้อยที่สุด เกิดปัญหาน้อยที่สุด และสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด” ดร.ศักดิ์ทิ้งท้าย

สำหรับสไลด์ที่ ดร.ศักดิ์ ใช้บรรยาย สามารถดาวน์โหลดได้ที่

Great! Next, complete checkout for full access to Insiderly AI - Thai Edition.
Welcome back! You've successfully signed in.
You've successfully subscribed to Insiderly AI - Thai Edition.
Success! Your account is fully activated, you now have access to all content.
Success! Your billing info has been updated.
Your billing was not updated.