เปิดมุมมอง “ธี-ธัชกรณ์ วชิรมน” CEO Sertis กับอนาคต AI ในโลกธุรกิจ และทำไมคนต้องปรับตัว

เปิดมุมมอง “ธี-ธัชกรณ์ วชิรมน” CEO Sertis กับอนาคต AI ในโลกธุรกิจ และทำไมคนต้องปรับตัว

เซอร์ทิส (Sertis) บริษัทที่ทำด้าน AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ Data ก่อตั้งในปี 2014 ในยุคที่ AI และ Data ยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทยและอาเซียน โดยนำความรู้จากการได้ทำงานในต่างประเทศหลายปี ทั้งการทำอีคอมเมิร์ซที่จีน และทำบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่อังกฤษ ทำให้เห็นโอกาสเรื่อง AI กับ Data ที่เมืองไทยไม่ค่อยมีใครทำ

“หลังจากกลับมาประเทศไทย ได้ก่อตั้งบริษัท Sertis เพราะเราอยากจะเป็นบริษัท AI ชั้นนำของภูมิภาคนี้ วันแรกมีผมนั่งอยู่คนเดียว มีแค่ไอเดีย และค่อยๆ เริ่มสร้างทีมงานเข้ามา จนโตมาเรื่อยๆ” ธี-ธัชกรณ์ วชิรมน CEO และ Founder บริษัท เซอร์ทิส จำกัด กล่าวเปิดบทสัมภาษณ์

ธัชกรณ์ มีโอกาสได้ทำงานในประเทศจีนประมาณปี 2010 และเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลมากมาย หลังจากเกิดวิกฤตโรคซาร์ส อีคอมเมิร์ซจีนเริ่มเติบโตขึ้น ระบบชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เริ่มเข้ามา นำโดยอาลีบาบา

และก่อนหน้านั้นประมาณปี 2005 มีโอกาสทำงานเป็นที่ปรึกษาให้ธนาคารในอังกฤษและยุโรป ได้เห็นว่า Banking System ไม่ว่าจะเป็นการบริหารเครดิต สินเชื่อ เริ่มใช้คอมพิวเตอร์คิดแทนมนุษย์ จึงเห็นว่าเทรนด์มันเริ่มจากธุรกิจเฉพาะ ก่อนจะเป็นเทรนด์ที่คนหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผมมองเห็นเบื้องหลังของ อีคอมเมิร์ซ และ e-Payment มันคือเรื่อง AI และ Data ซึ่งช่วยให้ผมเห็นว่า การที่เราจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยมนุษย์คิด มันน่าจะเป็นอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”







AI จะดิสรัปต์ทุกสิ่ง คนต้องเร่งปรับตัวให้ทัน
เมื่อ 7 ปีที่แล้วเรื่อง AI และ Data ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย ธัชกรณ์ เล่าว่า ประเทศไทยในยุคนั้นยังเป็น Traditional Focus อยู่ คือเรื่องดิจิทัลเป็นอะไรที่ใหม่ ถามว่ามี Digital Strategy ไหม บางคนก็ยังไม่ค่อยมี เพราะองค์กรส่วนมากยังมองไม่เห็นว่า AI กับ Data จับต้องไม่ได้ และจะสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรอย่างไร แต่ก็มีบางองค์กรที่คิดเรื่องการขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากๆ จะเริ่มหาคนมาช่วยขับเคลื่อน ซึ่งธุรกิจที่เซอร์ทิสได้มีโอกาสทำงานร่วมในช่วงแรกเป็นธุรกิจค้าปลีก (Retail) และอีกธุรกิจเป็นองค์กรระดับโลกที่อยู่ประเทศไทย ทั้งนี้การเป็นผู้ให้บริการเจ้าแรกๆ เซอร์ทิสต้องให้ความรู้คนเรื่อง AI และ Data มาก

“ผมมองว่ามันเป็นโอกาส และโชคที่ดีที่มาเจอองค์กรที่มีความเชื่อคล้ายกับเรา มี Passion คล้ายกัน กล้าที่จะเดินก้าวไปข้างหน้า ณ ช่วงที่คนยังไม่ค่อยเดิน”

ธัชกรณ์ เล่าต่อว่า บางคนลืมไปว่าโลกนี้มันล้อมรอบไปด้วย AI ทุกครั้งที่เปิดมือถือก็มี AI เปิดอีเมล์ ก็มี AI คัดกรอง เข้าไปค้นหาใน Google หรือดู YouTube ก็มี AI คือ AI มันมีอยู่รอบตัว มันมีมาระยะหนึ่งแล้ว

“ในอนาคต จะไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่ใช้ AI ผมมองว่าโลกของเรากำลังจะก้าวไปสู่ยุคที่เราเรียกว่า AI Age แค่บางคนยังไม่ทันสังเกต”

คล้ายกันคือเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มต้น ตอนนั้นคนก็บอกว่าอินเทอร์เน็ตมันแค่สำหรับบริษัทไฮเทค หรือต่อมาจะมีเรื่องสมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย ซึ่ง ธัชกรณ์ มองว่า AI ก็เหมือนยุคแรกของโซเชียลมีเดียที่ทุกคนไม่คิดว่ามันจะเข้ามา สำหรับบางคนหรือสำหรับบางอุตสาหกรรม อาจจะมองว่า AI มันยังมาไม่ถึง แต่เมื่อมันมาถึงแล้ว มันก็อาจจะสายเกินไป องค์กรต้องรีบเตรียมตัวก่อนที่มันจะมาถึง

AI จะดิสรัปต์คนที่ไม่ปรับตัว องค์กรไหนที่ใช้ประโยชน์กับ AI จะรอด ส่วนใครที่ไม่ได้ใช้ก็จะเริ่มแข่งขันยากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 มุมมอง คือ

1.คนจะไม่ตกงาน แต่ต้อง Reskill เหมือนในยุคหนึ่งที่ทุกคนใช้พิมพ์ดีด และคอมพิวเตอร์ก็เข้ามา คนก็เปลี่ยนไปใช้คอมพิวเตอร์แทน แต่หนึ่งในเรื่องที่ถูกบังคับให้ปรับตัว คือ เครื่องโฟโต้ก๊อปปี้ สำหรับบางคนอาจจะไม่รู้ประวัติ เมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว คือ ถ้าอยากก๊อปปี้เอกสาร ต้องให้คนพิมพ์ แต่พอมีเครื่องมา กลายเป็นว่าคนที่ต้องมาพิมพ์งานพวกนี้ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว และไปทำงานอื่นที่เพิ่มมูลค่ามากกว่า

2.เมืองไทยก้าวเข้าถึงยุคสังคมสูงวัย (Aging Society) และคนมีลูกน้อยลง แปลว่าจะมีคนเข้ามาทำงานใหม่ไม่พอ ต้องหันไปใช้ระบบอัตโนมัติ และเรื่องนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมพอดี ถือว่าเป็นโอกาสใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสังคมด้วย














AI ช่วยพัฒนาการตลาด การขาย
นอกจาก AI จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตคนไม่ต้องทำงานซ้ำๆ และเข้ามาช่วยให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นแล้ว ในแง่มุมธุรกิจ AI ยังเป็นกลจักรสำคัญของการตลาด และการขายที่ดีอีกด้วย เช่น AI เข้ามาช่วยเรื่องการจัดโปรโมชั่น ทั้งการโปรโมทในเวลาที่เหมาะสม ให้คนเห็นข้อความที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งเลือกตัวอักษรและสีให้ตรงใจ

“ถามว่ามนุษย์ทำได้ไหม ทำได้ แต่ AI มันทำได้เร็วกว่า” ธัชกรณ์ กล่าว

ธัชกรณ์ กล่าวต่อว่า AI สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของมันเอง สามารถ Customize ให้กับคนเป็นล้านๆ คน คือ แทนที่ทุกคนจะได้รับโปรโมชั่นเดียวกัน แต่ในอนาคต AI จะสามารถส่งโฆษณาหรือโปรโมชั่นที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้ เป็น Creative AI

“ผมมองว่าในอนาคตมันก็จะปรับไปถึงว่า นาย A ชอบตีกอล์ฟ นาย B ชอบเทนนิส เมื่อแบรนด์ต้องการจะโปรโมทสินค้าเครื่องดื่ม นาย A จะได้รับโฆษณาเป็นคนแต่งชุดกอล์ฟ ส่วนนาย B จะเห็นภาพคนเล่นเทนนิส AI สามารถเปลี่ยนสไตล์ เพื่อให้มันเข้ากับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน”

นอกจากนี้ ธัชกรณ์ ยังมองว่าอนาคตของการสื่อสารแบรนด์ และส่งเสริมการตลาด จะใช้ AI เข้ามาช่วยสร้างแบรนด์คาแรกเตอร์โดยไม่ต้องใช้คนจริงๆ แบรนด์สามารถปรับคาแรกเตอร์ให้เหมาะกับสินค้า ปรับรูปลักษณ์ตามเทรนด์ที่ต้องการ เช่น บางช่วงไว้ผมสั้น บางช่วงผมยาว หรือทำสีผมแต่ละวันไม่ซ้ำกัน

Sertis แนะองค์กรต้องเข้าใจธุรกิจ และเลือกใช้ AI ให้เหมาะ
สำหรับองค์กรธุรกิจที่เพิ่งรู้จัก AI และยังไม่รู้ว่าจะนำ AI ไปทำอะไรได้บ้าง Sertis แนะนำว่าสิ่งแรกที่สำคัญสุด คือ การเข้าใจตัวเองก่อน และพิจารณาว่ามีส่วนไหนที่คิดว่า AI ช่วยได้

ขั้นต่อไปคือ ต้องมาดูความพร้อม ว่าองค์กรมีข้อมูลพร้อมหรือไม่ มีระบบพร้อมหรือไม่

ก้าวสุดท้าย คือ การหารือปรึกษากับคนที่มีประสบการณ์จริง ให้คนที่เคยช่วย เอาองค์ความรู้พวกนี้ไปคุย และมาแชร์ว่าสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่คืออะไร AI จะช่วยด้านใดได้บ้าง มีอะไรที่พร้อมแล้ว หรือมีอะไรที่ยังไม่พร้อม จากนั้นก็หาวิธีพัฒนา

“AI มันมาแล้ว แต่เรารู้ไหมว่ามันมาแล้ว และเรารู้ไหมว่าคู่แข่งใช้ AI หรือยัง ผมการันตีได้ว่า บริษัทระดับโลก บริษัทชั้นนำของประเทศ ของภูมิภาคนี้ หลายแห่งใช้ AI แล้ว แค่คุณอาจจะยังไม่รู้ว่าเขาเริ่มใช้”

















Great! Next, complete checkout for full access to Insiderly AI - Thai Edition.
Welcome back! You've successfully signed in.
You've successfully subscribed to Insiderly AI - Thai Edition.
Success! Your account is fully activated, you now have access to all content.
Success! Your billing info has been updated.
Your billing was not updated.