ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI  ได้รับการพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากหลายบริษัททั่วโลกเริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้น จนเกิดบทสนทนาในสังคมที่ว่าท้ายที่สุดพนักงานที่ไม่มีทักษะด้านดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ

สำหรับบริษัทประเทศไทยหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามสร้างองค์ความรู้ด้านเอไอให้บุคลากร หนึ่งในนั้นคือการสร้างแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ผ่านการอบรมจากค่าย Super AI Engineer ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการก่อตั้งค่ายและความท้าทายในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเอไอให้สังคมไทย วันนี้ Insiderly.ai ชวนพูดคุยกับ ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยและผู้ก่อตั้ง

จุดเริ่มต้นของ ‘Super AI Engineer’

ดร.เทพชัย เริ่มเล่าให้ฟังว่า ค่าย Super AI Engineer เริ่มต้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในสมัยที่เอไอชนะการแข่งขันหมากล้อมเป็นครั้งแรก โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เล็งเห็นความสำคัญของเอไอจึงให้งบประมาณเพื่อจัดตั้งค่ายดังกล่าว ซึ่งในยุคแรกเริ่มเป็นเพียงค่ายสำหรับนักวิชาการและนักวิจัยเท่านั้น ก่อนที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเปิดให้ประชาชนทุกคนที่สนใจเข้าร่วม 

จุดประสงค์ของค่ายนี้คือการสร้าง “วิศวกร” ด้านเอไอ ที่มีความสนใจอยากไปประกอบอาชีพทั้งหมด 5 ด้านคือ วิศวกรที่อยากทำงานด้านวิศกรรม วิศวกรที่อยากเป็นนักวิจัย วิศวกรที่อยากเป็นนวัตกร วิศวกรที่อยากเป็นผู้ประกอบการ และวิศวกรที่อยากเป็นผู้สอน

โดยตั้งแต่วันแรกที่มีไอเดียจัดตั้งค่าย ตอนนี้ ดร.เทพชัยเล่าให้ฟังว่าจัดค่ายนี้มาทั้งหมด 4 ปีแล้วและก็มีผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “ปีแรกเรามีผู้มาสมัคร 2,000 คน ปีที่สอง 5,000 คน ปีที่สาม 6,000 คน และล่าสุดปีที่สี่มีเกือบ 8,000 คน”

“อย่างในซีซันสองมีคนมาสมัครที่เด็กที่สุดคือ 9 ขวบ ส่วนคนที่อายุมากที่สุดคือ 80 ปี โดยหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว คนที่อายุต่ำที่สุดคือ 16-17 ปี ในขณะที่สูงสุดคือ 55 ปี ซึ่งคนที่เข้ามาในค่ายก็มาจากหลายวิชาชีพ ทั้งคนที่ทำงานด้านเอไอ วิศวกร หมอ นักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งพนักงานต้อนรับภาคพื้นในสนามบิน”

ดร.เทพชัยอธิบายต่อว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องใช้เวลาอยู่ในค่ายทั้งหมดประมาณ 1 ปีและแบ่งขั้นตอนการเข้าร่วมเป็นทั้งหมด 3 ระดับ ซึ่งเมื่อสามารถผ่านการคัดเลือกเข้ามาได้แล้ว ทุกคนจะเข้ามาในระดับที่ 1 เพื่อปูพื้นฐานการใช้ตรรกะและการเขียนโปรแกรม 

หลังจากนั้นก็จะเลื่อนไประดับที่ 2 ซึ่งเป็นลักษณะการแข่งแฮกกาธอนคือผู้เข้าร่วมจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม เพื่อรับโจทย์จากภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ ในวันจันทร์และวันศุกร์ทุกคนก็จะมาแข่งขันกันและประกาศผล  โดยกระบวนการจะเป็นลักษณะนี้ทั้งหมดประมาณ 2 เดือนก่อนที่ผู้เข้าร่วมทุกคนจะเข้าไปที่ระดับ 3 คือการไปทำงานในสถานประกอบการจริง 2 เดือน 

ค่าย Super AI Engineer โอลิมปิกวิชาการด้านเอไอ (?)

เมื่อถามว่าค่ายนี้เป็นเหมือนโอลิมปิกวิชาการของคนที่สนใจด้านเอไอหรือไม่ ดร.เทพชัย อธิบายว่า หลายคนบอกว่าความยากในการเข้าคล้ายโอลิมปิกวิชาการ ทว่าสิ่งที่แตกต่างคือค่ายนี้จะไม่เน้นทฤษฎีมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นการรับโจทย์จากหน่วยงานต่างๆ หรือการไปทำงานในสถานประกอบการเป็นเวลา 2 เดือนก่อนจบค่าย

ทั้งนี้ ดร.เทพชัย กล่าวต่อว่า ค่ายนี้ได้รับความไว้วางใจถึงขนาดที่ว่า หากนักเรียนมัธยมคนไหนสามารถเข้ามาในค่ายได้ มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง พร้อมรับเข้าไปเรียนต่อในรอบพอร์ตโดยไม่ต้องสอบ หรือนักศึกษาในบางมหาวิทยาลัยก็สามารถนำใบประกาศของค่ายไปบายพาสการเรียนวิชาบางวิชาในมหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน เช่น Introduction to AI เป็นต้น

ตัวอย่างศิษย์เก่าค่ายที่ออกไปโลดแล่นในวงการเทคฯ

หลังจากจัดค่ายมาทั้งหมด 4 ซีซัน ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดร.เทพชัย ยกตัวอย่างถึงศิษย์เก่าคนสำคัญๆ ให้ฟังว่า หลายคนจบจากค่ายไปก็มีโอกาสเปลี่ยนสายและได้รับเงินเดือนและประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น 

“คนแรกคือเขาเป็นคุณหมอที่พยายามยื่นเรียนต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนตอบรับ แต่เมื่อมาเข้าค่ายของเราแล้ว เขายื่นเอกสารเพื่อเรียนต่อ คราวนี้มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากออฟเฟอร์ให้เขาเข้าไปเรียน ตอนนี้ก็ได้จับมือกับเพื่อนที่เจอกันในค่าย ซึ่งมาจากวิศวะจุฬาฯ เพื่อสร้างสตาร์ทอัพด้วยกัน”

“อีกคนหนึ่งเป็นนักศึกษาปีต้นๆ จากวิศวะ จุฬาฯ เขามีความฝันว่าอยากทำสตาร์ทอัพมาตั้งนานแล้ว พอมาเข้าค่ายได้ความรู้ไป ตอนนี้เขามีบริษัทเป็นของตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่ปีที่สอง”

“คนที่สามเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มาเข้าค่ายกับเราพอจบไป สถานการณ์ในมหาวิทยาลัยพลิกผันได้มาเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้าน E-learning และการศึกษา เขาก็พาเพื่อนๆ ในค่ายไปช่วยกันจัดทำหลักสูตรด้านเอไอให้มหาวิทยาลัย”

“ส่วนคนที่สี่ก่อนหน้านั้นเป็นพนักงานต้อนรับบนภาคพื้นดินกับสายการบินหนึ่ง  เขาขยันมากจนผ่านการคัดเลือกเข้ามาในค่าย สุดท้ายมีบริษัทเทคฯ ดึงตัวไปทำงานเพราะมีทั้งสกิลด้านการสื่อสาร สามารถเขียนโปรแกรมเบื้องต้นได้ ดังนั้นก็สามารถเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างลูกค้ากับคนทำงานเทคฯ จ๋าๆ ได้”

จากตัวอย่างทั้งหมด ดร.เทพชัยอธิบายว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความมุ่งมั่นและสนใจด้านเอไอก็เข้ามาในค่าย Super AI Engineer ได้ ขอแค่มีความตั้งใจ “ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมแต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการใช้ตรรกะและเขียนโปรแกรม ซึ่งในค่ายมีหลายคนที่เก่งเรื่องนี้มาสอนตั้งแต่เริ่มต้น”

ทั้งโลกขาดแคลนแรงงานด้านเอไอ

เมื่อถามถึงความต้องการแรงงานด้านเอไอ ดร.เทพชัย เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ทั้งโลกขาดแคลนคนที่มีความรู้ด้านเอไออย่างมาก และที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ายในลักษณะนี้แค่ 2 แห่งเท่านั้นคือที่สิงคโปร์และประเทศไทย

“หลายประเทศขาดแคลนบุคลากรด้านเอไอ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี จีนก็ขาดแคลนแต่เขาก็ไม่มีค่ายในลักษณะนี้ จะมีก็แต่ในสิงคโปร์ที่ทำ ค่าย AI Apprentice แต่มีข้อแตกต่างคือของสิงคโปร์เขาจะคัดเลือกคนที่เก่งในแต่ละสายมาฝึกและป้อนเข้าตลาดแรงงาน ทว่าสำหรับค่าย Super AI Engineer เราไม่กีดกั้นใครเลย ขอแค่คุณมีความสนใจด้านเอไอ เราพร้อมจะให้ความรู้ ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าเทรนด์ของคนที่สนใจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

เรียกร้องภาครัฐให้การสนับสนุนสร้างบุคลากรเอไอ

นอกจากนี้ ดร.เทพชัย เล่าต่อว่า ปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันถึงโมเดลการหาเงินของค่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่จัดทำค่าย คณะผู้จัดทำให้ทุนการศึกษาสำหรับทุกคนที่ผ่านการคัดเลือก แต่เวลาผ่านไปเมื่องบประมาณที่ได้จากภาครัฐน้อยลงในปีที่ 4 นี้ เงินสนับสนุนจึงไม่เพียงพอต่อการให้ทุนกับผู้สมัครท่านไหนเลย

“ภาครัฐเขาบอกว่าค่ายก็จัดมา 4 ปีแล้วแต่ทำไมยังไม่สามารถหาโมเดลการหารายได้แบบยั่งยืนโดยไม่พึ่งภาครัฐได้ เช่นการไปของบสนับสนุนจากภาคเอกชน แต่พอไปคุยกับภาคเอกชนเขาก็มักจะบอกว่า หน้าที่การสร้างคนควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ทั้งหมดจะเห็นได้ชัดเจนว่ายังมีความไม่ลงตัวในเรื่องเงินทุนการจัดตั้งค่ายอยู่”

ดร.เทพชัย กล่าวเสริมว่า “ค่ายนี้เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ที่ไม่ควรทิ้ง ดังนั้นมันจะมีหลายวิธีที่อยากให้รัฐมองเห็นและเขาต้องมองเห็นภาพที่เป็น Ecosystem ด้านการสร้างบุคลากรด้านเอไอมากขึ้น และผมว่ารัฐต้องลงทุน ส่วนเอกชนจะเข้ามาก็ได้ แต่ก็เข้ามาเท่าที่ทุนเขาพอมี”

“ถ้าภาครัฐตั้งใจว่าจะสร้างแรงงานที่มีทักษะในสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่เริ่มเข้ามาตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคเรามากขึ้น ผมมองว่าการลงทุนสร้างทักษะแรงงานอย่างแท้จริงก็อาจจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็เป็นได้”

อนาคตค่าย ‘Super AI Engineer’

เมื่อถามถึงอนาคตของค่ายที่เขาปลุกปั้นมากับมือ ดร.เทพชัย บอกว่า ต้องการสร้างบุคลากรด้านเอไอเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของทั้งโลก โดยในการจัดค่ายปีล่าสุด มีพันธกิจให้ผู้เข้าร่วมค่ายทุกคนว่า หลังจากจบค่ายไป หากเป็นไปได้อยากให้ทุกคนกลับมาแชร์และกลับมาสอนน้อง ๆ ในปีต่อๆ ไป โดยทั้งหมดคือการเปลี่ยนทุกคนจาก Learner เป็น Coacher 

“หลายคนมักถามว่าถ้าบุคลากรด้านเอไอขาดแคลนขนาดนี้ แล้วคนที่จบจากค่ายไปเขาจะไม่ไปทำงานให้ Google Nvidia หรือบริษัทเทคฯ ดังๆ กันหมดหรือ ส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่มีขอบเขตแล้วในตอนนี้ และผมก็เชื่อว่าถ้าโครงการเราตั้งใจดีแบบนี้ก็จะมีเด็กที่จบจากค่ายเราและทำงานที่ต่างประเทศกลับมาให้ความร่วมมือหรือมาช่วยเหลืออีกจำนวนมาก”

“อย่าคิดว่าให้เขาผูกพันตรงนี้ แต่ให้เขาไปทำงานในที่ต่างๆ และกลับมาช่วยเราจะดีกว่า ให้พวกเขามีอิสระและเต็มใจจะดีกว่า คนมีงานประจำก็จริง แต่เขาอยากช่วยเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องมาเป็นฟูลไทม์ก็ได้ แบบนี้ก็เป็นการ Contribute รูปแบบหนึ่งให้ประเทศ”

“อีกอันหนึ่งที่ผมคิดคือถ้าแรงงานด้านเอไอมันขาดมากขนาดนั้น ก็ไม่เห็นจะแปลกเลยที่เราจะสร้างคนเก่งและส่งไปทำงานที่ต่างประเทศ เหมือนกับอินเดียที่ส่งซีอีโอออกไปอยู่ทั่วโลก ให้ทั่วโลกเห็นว่าถ้าพูดถึงเอไอ ต้องมาที่ประเทศไทยนี่แหละ”

“แล้วผมก็ฝันว่าถ้าเรามีคนเก่งมากในระดับหนึ่ง ผมอยากให้บริษัทใหญ่ๆ ที่เค้าเข้ามาลงทุน ไม่ใช่ให้เข้ามาลงทุนในฐานะ Distributor หรือว่ามาขายของให้เราอย่างเดียว แต่เขาต้องมาลงทุนในฐานะศูนย์วิจัย และถ่ายทอดความรู้ให้กับเรา แบบนั้นประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย”

ความรู้ด้านเอไอที่คนทั่วไปควรรู้

ท้ายที่สุด บทสนทนาที่คุยในวันนี้ดูเหมือนจะพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านเอไอสำหรับผู้ที่ต้องการลงลึกในด้านปัญญาประดิษฐ์ ทว่าเมื่อถามว่าแล้วคนทั่วไปควรมีความรู้อะไรเกี่ยวกับเอไอ อุปนายกสมาคมเอไอประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า เราต้องใช้เอไอให้เป็นและมีทักษะด้านการตัดสินใจ

“อย่างแรกคือเราต้องไม่ปิดหูปิดตา ทุกคนต้องเข้าใจว่าเอไอเป็นฐาน เราต้องใช้เอไออยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว พอเรามีความตระหนักรู้ด้านเอไอแล้วเราจะใช้มันไปในทิศทางไหน สมัยนี้ง่ายที่สุดก็คือการใช้เจเนอเรทีฟเอไอช่วยทำงาน มันคือการก้าวเข้าสู่โลกของปัญญาประดิษฐ์ มองเป็นตัวช่วยที่ดี หรืออาจารย์บางท่านอาจบอกว่าให้มองเป็นพาร์ทเนอร์ ด้วยซ้ำ แต่ผมคิดว่าแค่เครื่องมือก็พอ”

“ที่สำคัญทุกคนควรใช้มันให้ถูกประโยชน์ โดยสกิลที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจ เราต้องเป็นผู้ตัดสินว่าข้อมูลที่มันหามาให้นั้นใช่หรือไม่ใช่ เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นด้วยข้อมูล ดังนั้นเมื่อได้คำตอบมาแล้ว เราก็มาเช็กทีหลังอีกว่ามันถูกต้องหรือไม่” 

“ถ้าพูดตามคำศัพท์ในวงการคือคำว่าใช้เอไอเป็น Co-pilot ใช้เขา แล้วเราก็ต้องเป็น Pilot ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นมันจะอันตรายมาก” 

Great! Next, complete checkout for full access to Insiderly AI - Thai Edition.
Welcome back! You've successfully signed in.
You've successfully subscribed to Insiderly AI - Thai Edition.
Success! Your account is fully activated, you now have access to all content.
Success! Your billing info has been updated.
Your billing was not updated.