• Insiderly AI - TH
  • Posts
  • สรุป 5 ประเด็นที่คนไทยควรรู้จากเสวนา “AI Thailand ก้าวไปไกลถึงไหนแล้ว”

สรุป 5 ประเด็นที่คนไทยควรรู้จากเสวนา “AI Thailand ก้าวไปไกลถึงไหนแล้ว”

สรุป 5 ประเด็นที่คนไทยควรรู้จากเสวนา “AI Thailand ก้าวไปไกลถึงไหนแล้ว”

นับตั้งแต่ ChatGPT ถือกำเนิดขึ้น ทุกคนน่าจะตระหนักกันแล้วว่าขุมพลังของ Generative AI ทรงประสิทธิภาพแค่ไหน และเชื่อว่าคนทำงานทั้งหลายน่าจะต้องเคยใช้ประโยชน์จาก Gen AI อย่างน้อย 1 ตัว ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Gemini, Co-Pilot, Claude หรือ Midjourney เป็นต้น

แต่นอกจากที่เรานำ Gen AI มาใช้งานตามปกติแล้ว ก็มีอีกหลายเรื่องที่เราควรรู้และควรตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันและพัฒนาประเทศให้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้าน AI อย่างน้อยก็ในระดับภูมิภาค

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงจัดงานเสวนาหัวข้อ “AI Thailand ก้าวไปไกลถึงไหนแล้ว” ที่ห้องประชุม SD-601 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยรวมตัวผู้คร่ำหวอดในแวดวงเทคโนโลยีและ AI ทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนกันว่า อนาคตของไทยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หากส่งเสริม พัฒนา และใช้งานเทคโนโลยีนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เชี่ยวชาญในงานนี้ประกอบด้วย ดร.ปานระพี รพีพันธ์ุ จากรายการไอที24ชั่วโมง และรายการ Digital Thailand, ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐฏิจดิจิทัล (depa), รศ.ดร.สรณะ นุชอนงค์ Director of VISTEC-depa Thailand AI Research Institute, ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director & Distinguished Visionary Architect, KBTG และดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผอ.กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ NECTEC สวทช. โดยมีดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ NECTEC สวทช. เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทัศนะของแต่ละคนมองอนารนของไทยกับ AI ไว้อย่างไร? สามารถอ่านรายละเอียดได้เลยในบทความนี้เลย

ระวัง! เมื่อคนไทยอาจยังไม่ตระหนักถึงการโดน AI แย่งงาน

ดร.ปานระพี ให้ข้อมูลว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ผู้คนจับตามานานแล้วว่าจะมาแรงตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งตอนนั้น AI ยังอยู่ในช่วงทดลองใช้งาน ยังไม่แพร่หลายด้วยซ้ำ ก่อนที่ ChatGPT จะเปิดตัวแล้วสร้างกระแสในวงกว้าง ชนิดที่ว่าสามารถพลิกโฉมโลกทั้งใบได้เลย

แต่สิ่งที่ ดร.ปานระพี กังวลก็คือ แม้ผู้คนจะรู้จักพลังของ AI แต่ความตระหนักรู้ในการใช้งานมันอาจยังไม่สูงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ยังประเมินคุณค่ามันต่ำไป เมื่อพิจารณาจากปี 2023 เป็นต้นมา มีข่าวบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกปลดพนักงานออกจำนวนมาก แล้วเอาเม็ดเงินไปลงทุนในการพัฒนาและใช้งาน AI แทน ซึ่งหากจับตาดูดีๆ กระแสนี้น่าวิตกทีเดียว และมันอาจลุกลามไปสู่อีกหลายอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ IMF เมื่อเดือนมกราคม 2024 ที่ผ่านมาพบว่า สุดท้ายแล้วการส่งเสริมให้ ‘มนุษย์’ ทำงานร่วมกับ AI น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด มากกว่าการพึ่งพาแต่ AI หรือพึ่งพาแต่มนุษย์เท่านั้น แต่มันก็วนกลับมาสู่คำถามว่า คนไทยตระหนักถึงประเด็นนี้แล้วรึยัง เราเริ่มคิดถึงอนาคตของตัวเองและคนรอบข้างแล้วรึยัง

หากยังล่ะก็ ถึงเวลาหาทักษะใหม่ๆ และเป็นผู้ใช้งาน AI อย่างเต็มตัวแล้ว เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นผู้ที่ถูก AI ใช้งาน และตกงานเมื่อไร้ประโยชน์

ประเทศไทยจะไปได้ไกล หากได้มดงานด้าน AI มาเสริมแกร่ง

ขณะที่ ดร.ชินวุฒิ เสริมว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกล้วนตื่นตัวกับ AI กันหมด ไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้นที่ตื่นเต้นไปกับอิทธิพลของมัน เพราะถือว่าอัตราการเติบโตของมันมีอัตราเร่งที่เร็วมาก เปรียบเทียบกับที่ผ่านมา ที่การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งล้วนต้องใช้เวลายาวนานทั้งสิ้น

ดังนั้น ตอนนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของคนทั่วโลก ที่จะต้องลงทุนกับมัน แล้วใช้ประโยชน์กับมันให้คุ้มค่าที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบมูลค่าการลงทุนใน AI ของทั่วโลก สามารถคิดเป็นเงินได้มากกว่า 241,800,000,000 ดอลลาร์ แต่มูลค่าการลงทุนเฉพาะของประเทศไทยเท่านั้นกลับมีแค่ 1,060,000,000 ดอลลาร์ เหตุผลสำคัญก็คือประเทศไทยยังมีสถานะเป็นเพียงแค่ผู้นำเข้าเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีเอง

ดร.ชินวุฒิ ยังแชร์สถิติว่า ปัจจุบันความต้องการคนทำงานด้าน AI ในไทยมีมากถึง 106,487 คน แต่บุคลากรตอนนี้กลับมีแค่ 21,631 เท่านั้น ไทยยังต้องพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแรงงานเข้าสู่ตลาดมากกว่านี้ หากต้องการขึ้นไปเป็นผู้นำด้าน AI ที่แท้จริง

ถึงเวลาองค์กรใหญ่หมดข้ออ้าง ไม่ใช้ AI เพราะไม่มีทุน

ฝั่งของ ดร.ทัดพงศ์ ให้ข้อมูลว่าช่วง 1-2 ปีมานี้ องค์กรสายธนาคารเอา AI มาใช้งานด้านต่างๆ เยอะขึ้น และถือเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ช่วยหาเงินได้เยอะทีเดียว อย่าง KBTG เองให้ AI มาช่วยวิเคราะห์ ช่วยชี้เป้าว่า ลูกค้าแต่ละคนอยากได้สินค้าอะไร อยากซื้อช่องทางไหน ซึ่งมันสามารถตัดเย็บและออกแบบตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้เลย

นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ ช่วยวิเคราะห์ว่าลูกค้าแต่ละรายควรได้รับวงเงินเท่าไหร่ และถ้าเกิดโดนเบี้ยวหนี้ จะสามารถตามทวงอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดได้ด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ทัดพงศ์ เชื่อว่าถึง AI จะแข็งแกร่งแค่ไหน ก็ยังเชื่อเหมือนวิทยากรท่านอื่นว่า สุดท้ายแล้วคนก็จะยังอยู่ในสมการเสมอ แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่หมด ผู้บริหารองค์กรต้องเริ่มคิดแล้วว่า จะเอา AI มาช่วยยกระดับบริษัทอย่างไรได้บ้าง ไม่สามารถอ้างได้แล้วว่า “ไม่มีแรงและไม่มีทุนในการเอา AI มาใช้งาน” ในเมื่อทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตพัฒนาไปมาก ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลความรู้มากขึ้น รวมถึงมี AI Tools ที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น แถมหลายตัวยังเปิดให้ใช้งานฟรีด้วยซ้ำ

และหากไม่ใช้ก็จะยิ่งเป็นฝ่ายตามหลัง ไม่มีทางขึ้นเป็นเจ้าธุรกิจได้อย่างแท้จริง

ใช้งาน AI ต้องใช้อย่างมีจริยธรรม

ด้าน ดร.เทพชัย เสริมว่า ข้อได้เปรียบของประเทศไทยเรื่องการพัฒนาและใช้งาน AI ในปัจจุบันก็คือ ถึงแม้โครงสร้างพื้นฐานจะยังขาดเกินอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วมีการสนับสนุนการพัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ และมีจำนวนผู้ใช้งานที่เยอะกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศรอบข้างในแถบอาเซียน ตามหลังเพียงสิงคโปร์เท่านั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ต้องรีบทำก็คือ ต้องรีบสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเรื่อง AI มากขึ้น คนไทยจะต้องรู้มากกว่าแค่ว่า AI คืออะไร ใช้งานอย่างไร แต่ต้องรู้ ต้องตระหนักถึงการใช้งานมันอย่างมีความรับผิดชอบ และใช้อย่างมีจริยธรรม ไม่นำไปใช้สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น

“การเอา AI มาใช้งานต้องรัดกุม เราต้องใช้งานอย่างถูกต้อง และต้องตรวจสอบด้วยว่า เรามีอคติในการใช้งานไหม ถ้าเกิด AI มีปัญหา มนุษย์สามารถควบคุมมันได้หรือไม่ สาเหตุที่เราต้องรัดกุมในเรื่องเหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่า มันจะไม่ไปทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกค้า และไม่ทำลายสิ่งดีๆ ของสังคมครับ”

อนาคตของประเทศไทย ต้องสร้างด้วยมือคนไทย ไม่รอต่างชาติ

ปิดท้ายที่ ดร.สรณะ ชวนมองในฐานะนักวิชาการว่า กว่าจะเกิดเทคโนโลยีที่เป็น Deep Tech เช่น AI ขึ้นมาได้ ล้วนต้องผ่านการวิจัยศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดกันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังต้องส่งเสริมอีกมาก หากต้องการขึ้นเป็นผู้นำได้อย่างสมภาคภูมิ

“การจะพัฒนา AI ให้พร้อมใช้งานทันทีจะต้องสนับสนุนให้เกิดการ Research & Development เราต้องเป็นผู้สร้างอนาคตเอง เราต้องพัฒนา Infrastructure ด้าน AI ให้ประเทศตั้งแต่วันนี้ เราต้องเป็นผู้ควบคุมชะตาด้วยมือตัวเอง แต่ทุกวันนี้ เราไม่ได้สร้างอนาคตเอง เราไม่ได้ควบคุมเทคโนโลยีเอง เรายังต้องรอให้ Microsoft พัฒนา AI ให้ถนัดภาษาไทย ทำให้เราเป็นแค่ผู้ตามเท่านั้น”

Reply

or to participate.