• Insiderly AI - TH
  • Posts
  • SCBX UNLOCKING AI EP8: Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape

SCBX UNLOCKING AI EP8: Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape

SCBX UNLOCKING AI: EP8

Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape

Session 1: Deepfake: Unveiling the Technology, Its Evolution, and Societal Impact

หลายปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยี Deepfake คือเครื่องมืออันดับต้นๆ ที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกปล้นทรัพย์ผู้อื่น กลายเป็นสิ่งที่ถูกมองในแง่ลบ ทั้งที่หากย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดของเทคโนโลยีนี้ มันถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์มากมายต่างหาก 

ในงาน SCBX UNLOCKING AI: EP8 หัวข้อ Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape ดร. สรรพฤทธิ์ มฤคทัต Senior Researcher ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จาก NECTEC มาอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่ช่วงปี 1940 ก่อนจะมีสิ่งที่เรียกว่า AI เกิดขึ้นเสียอีก โดยเกิดจากการศึกษาเซลล์ประสาทของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากๆ หรือ Deep Neural Network แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจระบบการทำงานของประสาทส่วนย่อยๆ ในนั้นว่าทำงานอย่างไร ประมวลผลสิ่งต่างๆ ออกมาอย่างไร 

ประจวบเหมาะกับการที่โลกวิวัฒนาการมากขึ้น มี Computing Power ที่ดีขึ้น มี Data มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งเข้าใจว่า เราสามารถนำความรู้จากการศึกษาระบบประสาทที่ซับซ้อนไปใช้งานอย่างไรได้บ้าง นักวิทยาศาสตร์ยิ่งพบข้อจำกัดในการทำงานน้อยลง และช่วยใช้ประโยชน์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนได้มากขึ้นด้วย 

หนึ่งในนั้นก็คือการสอนให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้ว่า ภาพไหนคือภาพจริง ภาพไหนปลอม ซึ่งในหลายกรณีมีความเหมือนจริงจนอาจแยกไม่ออก นักพัฒนาจะวิธีการคือ จะป้อนข้อมูลของภาพหนึ่งเข้าไป แล้วให้ AI 2 จำพวกคือ AI ตำรวจจะพยายามจับผิดภาพว่าเป็นภาพปลอมหรือไม่ ส่วน AI คนร้ายมีทำหน้าที่สร้างภาพปลอมให้แนบเนียนที่สุด

วิธีนี้ไม่ว่าฝ่ายไหนจะแพ้หรือชนะ แต่มันจะช่วยให้ AI ทั้ง 2 แบบได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่ารูปแบบไหนเป็นของจริง และจะทำอย่างไรถึงจะปลอมรูปให้เหมือนจริงจนไม่ถูกจับได้ด้วย 

สำหรับประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ ดร.สรรพฤทธิ์ มองว่ามีดังต่อไปนี้

  1. ช่วยให้การสร้างหนังง่ายขึ้น เช่น สามารถปลุกชีพนักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้ว ให้กลับมาโลดแล่นบนจอได้อีกครั้ง หรือใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อทำให้นักแสดงที่มีอายุเยอะ แสดงบทที่มีความเยาว์วัยได้ง่ายขึ้น โดยนักแสดงจะไม่ต้องมาร์คจุดสำหรับทำ Visual Effect บนใบหน้าด้วย

  2. เวลาบันทึกคลิปวิดีโอยาวๆ แล้วเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา เช่น พิธีกร ผู้บรรยายพูดผิด ก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายทำคลิปใหม่ทั้งหมด แต่สามารถแก้ไขทั้งภาพและเสียงเฉพาะจุดได้ง่ายขึ้น

  3. ครูสามารถสร้างตัวตนใหม่ อาจยืมหน้า ยืม Avatar ของผู้อื่นมาใช้ แล้วเอาตัวตนนั้นไปสอนออนไลน์ (Virtual Classroom) ได้

  4. เอา Avatar มาช่วยไลฟ์สด แบ่งเบาภาระ เพราะมันสามารถขายของได้ตลอดเวลา หมดปัญหาการที่เจ้าของกิจการต้องขายของออกกล้องเองตลอด จนไม่มีเวลาพักผ่อน

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้หลอกลวงผู้อื่น เกิดเป็นการทำ Deepfake ซึ่งหมายถึงการปลอมหน้าคนผ่านภาพนิ่งหรือวิดีโอ ซึ่งจะมีอยู่ 3 แบบหลักด้วยกัน ดังนี้

  1. Face Swap เอาหน้าของคนที่ต้องการปลอม แล้วเอามาใส่หน้าคนอื่นในรูปภาพหรือบนคลิปวิดีโอ

  2. Photo Animation ทำให้ภาพใบหน้าบนภาพนิ่ง สามารถขยับเขยื้อนได้

  3. GenAI สร้างหน้าใหม่ขึ้นมาจาก AI เลย

นักวิจัยจาก NECTEC ยังอธิบายอีกว่า สาเหตุที่ผู้คนโดนหลอกเยอะทุกวันนี้ยังมีประเด็นเรื่อง Fake Voice หรือเสียงปลอมด้วย เพราะการปลอมเสียงให้เหมือนจริง ง่ายกว่าการปลอมทั้งคลิปวิดีโอ ซึ่งยังมีความไม่แนบเนียน สามารถจับสังเกตความผิดธรรมชาติของการขยับปาก การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ได้ง่ายกว่าด้วย

“เชื่อว่าต่อจากนี้จะมีงานวิจัยที่พูดถึงการรู้เท่าทัน Deepfake ออกมามากขึ้น แต่เราก็ต้องพึงระวังไว้เสมอว่า การหลอกลวงแบบใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น แล้วมันจะนำหน้าพวกเราเสมอ เราต้องหมั่น ‘เอ๊ะ’ หรือสงสัยสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา แล้วสิ่งนี้จะเป็นเกราะป้องกัน ช่วยเราจากการโดนหลอกได้ครับ” ดร.สรรพฤทธิ์ ทิ้งท้าย

Session 2: New Era of Customer Engagement with Huawei Digital Human and Al

เวลาพูดถึงผู้ผลิตสมาร์ตโฟนชั้นแนวหน้า หลายคนมักจะนึกถึงแบรนด์ Apple และ Samsung เป็นอันดับแรก และไม่ค่อยจะนึกถึง Huawei เสียเท่าไหร่

แต่รู้หรือไม่ว่า Huawei ก็ถือเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน และ Huawei ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องสมาร์ตโฟนอย่างเดียว แต่ยังผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ อีกมากมาย ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ในงาน SCBX UNLOCKING AI: EP8 หัวข้อ Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา คุณสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล CTO, Huawei Thailand Cloud Business ถือโอกาสนี้มาบรรยายว่า ยักษ์ใหญ่จากจีนแผ่นดินใหญ่ก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีไปถึงไหนแล้ว

คุณสุรศักดิ์ เล่าว่านับตั้งแต่เกิดเทคโนโลยี 4G ผู้คนไม่ได้ใช้มือถือเพื่อส่งข้อความหากันเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้สมาร์ตโฟนเพื่อดูคอนเทนต์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ในหลายกรณี สมาร์ตโฟนยังเป็นอุปกรณ์ทำมาหากินที่พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถขาดได้ด้วย

และเมื่อโลกนี้กำลังตื่นตัวเรื่อง Generative AI คุณสุรศักดิ์เชื่อว่าผู้คนจะสามารถเอา AI มาช่วยทำงานใหญ่ๆ อย่างการทำโปรดักชันได้ง่ายขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ Huawei จึงทำโปรเจกต์ Huawei Cloud ขึ้นมา เพื่อสร้าง ‘คนเสมือน’ 2 รูปแบบคือ Virtual Avatar และ Virtual Human แล้วนำมาใช้กับงานหลากหลายด้าน ทั้งการไลฟ์ขายของ เป็นพิธีกร นำเสนอสินค้า เป็นไกด์นำเที่ยว และอื่นๆ อีกมากมาย ช่วยให้ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ที่เคยทำยากได้เร็วขึ้น AI จะช่วยให้ปากของคนเสมือนขยับได้สมจริงขึ้น มีความฉลาด และเข้าใจภาษาต่างๆ มากขึ้นไปพร้อมกัน

สำหรับวิธีการสร้างนั้นมีหลักการคร่าวๆ คือ Huawei จะแคปเจอร์รูปลักษณ์ เก็บเสียง และสำเนียงการพูดของคนเอามาให้ AI ศึกษา ชิปที่ Huawei ผลิตเองนั้นมีศักยภาพสูง มากพอที่จะทำอะไรล้ำๆ ได้หลายอย่าง 

Huawei Cloud ยังมี Content Delivery Network ที่มีจุดแข็งด้านความเสถียรและความรวดเร็วมาก มั่นใจได้ว่าหากนำคนเสมือนไปใช้ไลฟ์สดล่ะก็ จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคอมเมนต์ได้รวดเร็วแทบจะเรียลไทม์แน่นอน และตอนนี้ที่จีนก็เริ่มเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้งานจริงแล้ว และอีกไม่นานเกินรอ เทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่ Virtual Exhibition, Virtual Summit, Virtual Concerts และอื่นๆ อีกมากมาย

“Huawei Cloud ของเราพร้อมช่วยแก้ทุกปัญหาครับ” CTO ของ Huawei Thailand Cloud Business ทิ้งท้าย

Session 3: Case study: Al Live Commerce: The Secret Weapon for Online Sales 

หากต้องการขายของให้ยอดขายเยอะ เราไม่สามารถขายแค่ผ่านหน้าร้านอย่างเดียวได้แล้ว ต้องขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เก่งด้วย แต่ถ้าขายได้ดีแล้ว เราจะทำให้ขายของดีกว่าเดิมได้ยังไง เป็นเรื่องที่หลายคนต้องคิดและทำการบ้านหนักทีเดียว

อย่างไรก็ตามในยุคนี้ที่มี AI เป็นนวัตกรรมใหม่ การเอามาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายกลายเป็นอีกกลยุทธ์ที่เห็นผลได้ดีทีเดียว 

ในงาน SCBX Unlocking AI: EP8 หัวข้อ Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape คุณพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ CEO ของ Voxxy AI live commerce มาอธิบายให้ผู้มีใจรักในการขายได้ทราบว่า ถ้าเราอยากเอา AI มาช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอามาไลฟ์สดขายของแทนมนุษย์ล่ะก็ มีเรื่องอะไรต้องรู้บ้าง โดยสามารถสรุปใจความสำคัญของการบรรยายได้ดังนี้ 

  • ปัจจุบัน การไลฟ์สดคือวิธีที่ดีที่สุดในการขายสินค้า จากข้อมูลที่คุณพงศ์วุฒิมีระบุว่า ถ้าใครไหนเคยซื้อของเพราะการไลฟ์สดสักครั้งล่ะก็ มีโอกาสสูงมากที่เขาจะกลับมาซื้ออีกเรื่อยๆ ในการไลฟ์ครั้งต่อๆ ไป

  • ตลาดการขายของไลฟ์สดเติบโตขึ้นมาก เฉพาะในประเทศไทยที่เดียว ยอดขายปี 2023 เติบโตมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐดอลลาร์เลยทีเดียว

  • แพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับใช้ไลฟ์ขายของในระดับโลกคือ Facebook, Instagram และ Youtube ขณะที่ประเทศไทยนิยมไลฟ์สดขายของผ่าน TikTok มากเป็นอันดับที่ 1 ทั้งที่ในระดับโลก TikTok อยู่อันดับค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำ

  • เทรนด์ในระยะหลังมานี้ เรามักจะพบการเอาดารา นักแสดง คนมีชื่อเสียง รวมถึง KOL มาช่วยไลฟ์สด แม้จะช่วยให้ยอดขายดีขึ้นจริง แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ร้านจำเป็นต้องให้ส่วนแบ่งเยอะมาก จนไม่ได้กำไรเต็มที่ตามที่ควรได้

  • การไลฟ์สดยังมีปัญหาอีกว่า แต่ละแพลตฟอร์มนั้นใช้โปรแกรมหรือรองรับอุปกรณ์ไม่เหมือนกันเลย แต่ก็จำเป็นต้องไลฟ์สดหลายช่องทางพร้อมกัน เพราะจะกระตุ้นยอดขายได้ดีกว่าขายผ่านช่องทางใดทางหนึ่งเท่านั้น 

  • นั่นจึงเป็นที่มาของ Voxxy AI Live Commerce บริการที่จะช่วยแก้ปัญหาการไลฟ์สดที่เคยเจอ โดยลูกค้าเพียงแค่นำข้อมูลเกี่ยวกับสินค้ามาให้เท่านั้น ทีมงานจะเตรียมทุกอย่างให้เรียบร้อย ทั้งเตรียมสคริปต์, เตรียมพร้อมช่องทางการไลฟ์ทุกช่องทาง, ใช้ AI เสมือนคนจริงๆ มาขายของ รวมถึงการช่วยบริหารออเดอร์แบบครบวงจร 

  • AI ของ Voxxy สามารถพูดคุยสื่อสารได้ 5 ภาษาคือ ภาษาไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และกัมพูชา ไม่เพียงแค่นั้นยังสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะให้ AI พูดคุยสื่อสารด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน

  • ปัจจุบัน Voxxy สามารถไลฟ์สดผ่าน Facebook, Youtube, Instagram, TikTok และในอนาคตจะรองรับแพลตฟอร์มของ Shopee และ Lazada ด้วย

  • AI ของ Voxxy สามารถจับตาคอมเมนต์ของผู้ดูไลฟ์ เพื่อหาข้อความของผู้ที่มีโอกาสจะซื้อสูง หากเจอแล้วระบบจะเข้าไปทักหาทันทีเพื่อปิดการขายให้ได้ และยังมีระบบวิเคราะห์หลังบ้านว่า ใครที่มีแนวโน้มจะกลับมาซื้ออีก ซึ่งจะช่วยรักษาลูกค้าและเพิ่มยอดในอนาคตด้วย

และนี่คือหนึ่งในตัวอย่างว่า การนำ AI มาช่วยในการไลฟ์สดนั้น สามารถช่วยให้ขายของออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

Session 4: Case study: The Story Behind Nation TV's Al Reporter 

นักข่าว นักเขียน และผู้ประกาศข่าว มักจะติดอันดับอาชีพที่ถูกคาดการณ์ว่ามีโอกาสโดน AI แย่งงานสูงเสมอ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มี Generative AI หลายตัวสามารถเขียนบทความ แปลบทความ ไปจนถึงอ่านข่าว อ่านข้อความได้เยอะมาก 

แต่ทุกวิกฤติคือโอกาส สำนักข่าวสำนักข่าว NationTV ตระหนักดีถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไป จึงเริ่มอ้าแขนรับนวัตกรรมใหม่นี้มาใช้ ด้วยการสร้าง AI ชื่อว่า ‘ณัชชา’ เพื่อใช้งานเป็นผู้ประกาศข่าว คอยช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกาศที่เป็นคนจริงๆ

คุณชาคริต ขวงอารินทร์ SVP Graphic Production, Nation TV ใช้เวทีของงาน SCBX UNLOCKING AI: EP8 - Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape เล่าถึงการพัฒนา ‘ณัชชา’ ว่า ‘ณัชชา’ คือ Meta Human ที่องค์กรเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2021 ตอนแรก รูปลักษณ์ของเธอยังมีความเป็นแอนิเมชั่น ยังไม่ค่อยสมจริงเท่าไหร่ แต่ยิ่งใช้เวลาพัฒนานานขึ้น หน้าตาของเธอก็ดูดียิ่งขึ้น จนหากดูผ่านๆ จะเริ่มแยกไม่ค่อยออกแล้วระหว่างผู้ประกาศที่เป็นคน กับผู้ประกาศที่เป็น AI 

คุณชาคริตเล่าว่า คอนเซ็ปต์ที่ NationTV ตั้งไว้ตอนแรกก็คือ อยากเอา AI Reporter คอยรายงานข่าวจากต่างจังหวัด จากนอกสตูดิโอข่าว แล้วมีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปได้เลย แต่ก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทำให้ช่วงปลายปี 2023 มาจนถึงกลางปี 2024 สามารถพัฒนา AI Human 2.0 ขึ้นมาได้ โดยตอนนี้เรื่องรูปลักษณ์แทบไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แต่จะติดปัญหาเรื่องเสียงพูด และเสียงการอ่านที่ยังไม่ค่อยสมจริง อย่างไรก็ตามคุณชาคริตยืนยันว่าในอนาคตจะร่วมมือกับ Huawei Cloud เพื่อพัฒนาการใช้เสียงของ AI ให้สามารถอ่านข่าวได้ดีขึ้น

ซึ่งหากทำได้ล่ะก็ ในอนาคต NationTV จะเอามาใช้แบ่งเบาภาระผู้ประกาศข่าวคนจริง ด้วยการทำหน้าที่อ่านข่าวสัพเพเหระแทน เพื่อที่ผู้ประกาศข่าวที่เป็นคนจะได้เอาเวลาไปวิเคราะห์ข่าวสำคัญๆ ข่าวหนักที่มีผลกระทบต่อสังคมเยอะๆ แทน ตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ตั้งแต่แรก

การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอีกหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ผู้ประกาศข่าวจะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว แต่ต้องรีบหาวิธีปรับตัวด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ AI มาแทนที่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ และมันอาจมาเร็วกว่าที่ใครคาดคิดก็เป็นได้

Session 5: Digital Human: A Paradigm Shift in Media and Communication

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความก้าวไหนของ Generative AI ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อแวดวงสื่อสารมวลชนในวงกว้าง แม้อาจมีหลายอาชีพที่โดน Disrupt แต่ก็เป็นโอกาสเช่นกันที่คนในวงการจะนำสิ่งประดิษฐ์นี้ไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายทาง

ในงาน SCBX UNLOCKING AI: EP8 Seeing is Believing? Navigating the Digital Human Landscape มีการเสวนาในหัวข้อ Digital Human: A Paradigm Shift in Media and Communication เพื่อชวนพูดคุยว่า ผลกระทบของ GenAI จะทำให้วิธีการทำสื่อและการสื่อสารที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

โดยมีวิทยากรมาร่วมคาดการณ์อนาคตทั้งสิ้น 4 ท่านได้แก่ พันตำรวจตรี ปุริมพัฒน์ พัฒนศิริ Deputy Superintendent กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี,  ดร.สรรพฤทธิ์ มฤคทัต Senior Researcher จาก NECTEC, คุณวรวิสุทธิ์​ ภิญโญยาง Founder จาก Insiderly.ai และคุณสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล CTO, Huawei Thailand Cloud Business

สำหรับเนื้อหาในงานเสวนา มีรายละเอียดโดยคร่าวดังต่อไปนี้

  1. วิทยากรทุกคนเห็นพ้องกันว่า การคาดการณ์อนาคตหลังจากนี้จะทำได้ยากขึ้น เพราะ GenAI เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานใหม่ทั้งหมด ทำให้สิ่งที่เคยคิดว่าแน่นอนกลับไม่แน่นอนอีกต่อไป ดร.สรรพฤทธิ์ ยกตัวอย่างว่าเมื่อ 3 ปีก่อนคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT ออกมา แต่มันก็เป็นไปแล้ว และเขาจะไม่แปลกใจเลยว่าสถานการณ์แบบในหนังเรื่อง her ที่ว่าด้วยมนุษย์เกิดความรู้สึกดีๆ กับ AI จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงบ้าง ทั้งที่มันดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้เลยก็ตาม

  2. คุณวรวิสุทธิ์ เล่าว่าไม่นานมานี้ รีด ฮอฟฟ์แมน ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม LinkedIn และผู้สนับสนุนคนสำคัญของ OpenAI ได้โคลนตัวเองผ่านการ Deepfake แล้วเอาข้อมูลการเรียนรู้ในช่วง 20 ปีให้มันเรียนรู้ผ่าน GPT4 ก่อนจะให้มันลองสรุปใจความสำคัญของหนังสือเล่มหนึ่งออกมา 2 แบบ โดยการสรุปแบบแรกให้เด็กเข้าใจ และอีกแบบสรุปให้คนที่ฉลาดที่สุดในโลกเข้าใจ ปรากฏว่ามันสามารถตอบได้ทันทีว่าคนแบบไหนจะอธิบายว่าอย่างไร ซึ่งชวนให้คิดต่อว่า ต่อไปผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายอาจสามารถเทรน Avatar แล้วให้ไปแสดงความคิดเห็นในรายการทีวีแทนได้เลย โดยที่ตัวจริงไม่ต้องเหนื่อย แล้วเอาเวลาไปพักผ่อนได้อย่างสบายใจ

  3. แม้เราจะเริ่มเห็นคนเอาเทคโนโลยี Deepfake มาใช้เยอะขึ้น ทั้งเอาไปใช้ทำประโยชน์ และเอาไปใช้หลอกลวงคนอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีนี้จะสมจริงไปเสียทีเดียว ปัจจุบันมีโมเดลสำหรับใช้เพื่อจับผิด AI แล้ว DeepID Forensics Report รายงานว่าหนึ่งในวิธีจับสังเกตง่ายๆ ว่าคนในคลิปเป็น AI หรือไม่ ให้ดูว่าเขากะพริบตาบ้างหรือไม่ โดยคุณวรวิสุทธิ์ ยังให้ข้อมูลอีกว่า Intel สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจจับ ‘Fake Human’ ได้แล้วผ่านการสแกนเส้นเลือดบนหน้า คอยสังเกตว่าเวลายิ้ม กล้ามเนื้อใบหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติหรือไม่

  4. คุณวรวิสุทธิ์ ยังยกตัวอย่าง AI จะมีประโยชน์มากในการสร้างหนัง ที่ผ่านมามีบริษัทโปรดักชันรับทำ Visual Effect คอยสแกนภาพร่างกาย จับภาพการเคลื่อนไหวและเสียง แต่ตอนนี้มีบริการ AI หลายที่ เช่น heygen ที่สามารถเอาฟุตเทจภาพ 2 นาที มาแปลงเป็นภาพที่มีความสมจริงได้ ในงบประมาณที่น้อยลง และมันน่าจะส่งผลให้วิธีการทำหนังไม่มากก็น้อย

  5. คุณสุรศักดิ์ มองว่าแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่กับการเอาไปใช้งานในชีวิตจริง เขายังคิดว่าผู้คนอาจไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย หรือเก่งกาจสุดๆ แบบ JARVIS ในภาพยนตร์เรื่อง Iron Man หากต้องการพัฒนานวัตกรรมให้ไปถึงขั้นนั้นได้ ก็ต้องพัฒนา Computing Power ให้เก่งกาจมากขึ้น และที่สำคัญต้องทำให้เทคโนโลยีราคาถูกลงจนเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายขึ้นด้วย ในอนาคตอันใกล้นี้เราน่าจะยังเห็นแต่องค์กรขนาดใหญ่ๆ เท่านั้นที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมัน หนึ่งในนั้นก็คือ Huawei นั่นเอง

  6. พันตำรวจตรี ปุริมพัฒน์ กล่าวว่า ในมุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างไร้รอยต่อแน่นอน แต่ที่สำคัญคือต้องใช้งานโดยรู้เท่าทันด้วยว่า มันอาจนำภัยมาให้ทุกเมื่อ โดยทุกวันนี้เจอปัญหาการหลอกลวง ปล้นทรัพย์ในโลกออนไลน์เยอะมาก จนอาจเยอะกว่าการปล้นในชีวิตจริงไปแล้ว และประเทศไทยตอนนี้มีคนที่แก๊งคอลเซนเตอร์หลอกสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนด้วย ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของทุกฝ่ายที่ต้องรีบหาวิธีสร้างความรู้เท่าทันแก่ประชาชนให้ได้

  7. ดร.สรรพฤทธิ์ ตั้งคำถามว่า แก๊งคอลเซนเตอร์ต้องใช้เสียงของคนยาวกี่วินาที ถึงจะเอามาใช้หลอกคนได้ ประเด็นนี้สามารถเป็นคำถามเชิงวิชาการที่นำไปวิจัยต่อ แล้วพัฒนาวิธีการป้องกันการหลอกลวงได้ในอนาคต แต่ทุกวันนี้งานวิจัยที่น่าสนใจด้านเทคโนโลยีหลายชิ้น ไม่สามารถพัฒนาให้นำไปใช้งานจริงได้ สาเหตุสำคัญก็เพราะนักวิจัยไม่รู้ว่าจะประดิษฐ์สิ่งเหล่านั้นขึ้นมา แล้วทำการตลาดอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ 

  8. แม้งานวิจัยที่อยู่บนหิ้งจะไม่สามารถทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริงได้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยก็ยังสำคัญ เพราะอย่างน้อย มันคือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ช่วยให้มองเห็นว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้งานได้อย่างไรบ้าง และหากผู้คนตื่นตัวด้านนี้มากขึ้น ไม่แน่ว่าเราน่าจะได้เห็นงานวิจัยแปรเปลี่ยนจากสิ่งที่เป็นนามธรรม ให้กลายเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น 

Reply

or to participate.