• Insiderly AI - TH
  • Posts
  • ถอดสมการชีวิต ‘เค - มติชน มณีกาศ’ = โอกาส+ความล้มเหลว+คู่แข่ง+AI

ถอดสมการชีวิต ‘เค - มติชน มณีกาศ’ = โอกาส+ความล้มเหลว+คู่แข่ง+AI

ถอดสมการชีวิต ‘เค - มติชน มณีกาศ’ = โอกาส+ความล้มเหลว+คู่แข่ง+AI

ย้อนกลับไปเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว หลายคนคงไม่คาดคิดว่า Generative AI จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเอามาใช้ทั้งในการทำงานและในชีวิตจริง แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากมายนับไม่ถ้วนแบบนี้

แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นประมาณเกือบ 10 ปี มีคนอยู่เพียงหยิบมือที่เชื่อมั่นว่า AI จะเข้ามาช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนได้แน่นอน หนึ่งในนั้นคือคุณเค - มติชน มณีกาศ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์วิจัยและผู้ก่อตั้ง บริษัท Vulture Prime จำกัด และเป็นผู้สร้าง Float16.cloud ระบบ  Infrastructure ด้าน AI ที่ช่วยให้ Generative AI ขององค์กรทั้งไทยและต่างชาติสามารถใช้งานได้จริง ไร้ซึ่งปัญหาใดๆ

แต่กว่าจะเห็นวันที่ AI ไฮป์ทั่วโลกแบบนี้ คุณเคเจอเรื่องราวที่ทั้งน่าจดจำ น่าประทับใจ รวมไปถึงปัญหาและอุปสรรคให้ฝ่าฟันเยอะมาก Insiderly.ai จึงขอถือโอกาสพูดคุยกับเขากันว่า บทเรียนการผจญภัยที่ผ่านมานั้นหล่อหลอมเขาขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้อย่างไร และแวดวง AI จะเป็นอย่างไรในอนาคตอีกบ้าง มาติดตามในบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย

บทที่ 1: เส้นทางที่ต้องเลือกระหว่าง AI กับ BTC

คุณเคเล่าว่า เขาสนใจเรื่องเทคโนโลยีมานานแล้ว เนื่องจากเติบโตมาเป็นเด็กเนิร์ดคนหนึ่งที่หัดเขียนโปรแกรมคอมมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นม.ต้น และยังชอบวิชาคณิตศาสตร์ อังกฤษ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิสิกส์

พอเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ยังเป็นช่วงที่เทคโนโลยี AI กำลังเป็นที่พูดถึงพอดีด้วย จากโปรแกรม AlphaGo หรือโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถแข่งหมากล้อมชนะนักแข่งมือโปรได้ ทำให้เขาเริ่มสงสัยว่า นวัตกรรมนี้มันทำงานอย่างไร และเมื่อศึกษามากขึ้น ก็มีโอกาสไปร่วมทำแล็บกับรุ่นพี่ปริญญาโท และปริญญาเอก ได้ลงมือทำจริงมากขึ้น

แต่ผู้ก่อตั้ง Vulture Prime ก็บอกอีกว่าช่วงนั้นกระแสของ Bitcoin ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลก็กำลังเป็นที่พูดถึงด้วย ซึ่งก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน ทำเอาเขาคิดหนักเลยว่าควรมุ่งหน้าศึกษาด้านใดมากที่สุดดี…

และสุดท้าย เขาก็ตัดสินใจมุ่งหน้าเอาดีกับด้าน AI ตั้งใจเรียนรู้และทดลองจนได้รับการชักชวนให้ไปทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพ Easy Rice ที่พัฒนา AI เพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ

“แต่ย้อนกลับมาคิดดู ถ้าตอนนั้นผมเลือกมุ่งไปด้าน Bitcoin เลย ตอนนี้อาจจะรวยไปแล้วก็ได้ครับ (หัวเราะ)” คุณเคกล่าวติดตลก

บทที่ 2: อย่าแค่ Local แต่ต้องไป Global

บนเวที Super AI ที่สิงคโปร์

แม้การทำงานที่ Easy Rice จะค่อนข้างเปิดโลกการทำงานด้าน AI และมอบบทเรียนที่มีค่าให้เขาหลายประการ แต่หลังจากทำงานที่นี่ไปได้พักหนึ่ง คุณเคก็ตัดสินใจออกจากบริษัท และเขาหายไปนานถึง 2 ปี ก่อนที่จะกลับเข้ามาในวงการอีกครั้งกับการก่อตั้ง Vulture Prime

แต่คุณเคยืนยันว่า ช่วงเวลาที่หายไป เขาไม่ได้ทิ้งวงการ AI ไปไหน แต่เขาแค่ไปหาความท้าทายใหม่ๆ เพื่อเติมไฟให้ตัวเอง

“ผมไม่ได้ออกจากวงการ 100% นะ ผมยังสนใจเรื่อง AI อยู่ แต่ 2 ปีที่หายไป ผมไปเจอความสงสัยใหม่นั่นคือ ถ้าเราอยากเป็นประชาชนโลก (Global Citizen) อยากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วยึดโยงกับคนทั้งโลกได้ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง”

สาเหตุที่เกิดความสงสัยนี้ เพราะเขารู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานกับคนไทย รวมถึงการทำธุรกิจแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เขาถือโอกาสนี้ลองสำรวจว่าแวดวง AI ที่เมืองนอกกำลังทำอะไรกัน แล้วก็เจอหลายสิ่งน่าสนใจมาก ซึ่งเปลี่ยนมายด์เซ็ตของเขาไปอีกแบบเลย

“ผมพบว่าการทำงานในตลาดโลก (Global) ง่ายกว่าในประเทศ (Local) ผมเจอทีมทำ LLM เจ้าหนึ่งที่สิงคโปร์ ผมคุยกับเขาง่ายมาก แค่คุยในทวิตเตอร์ นัดเจอแล้วก็ทำงานร่วมกันเลย แต่ที่ไทยเราทำอย่างนี้ไม่ได้ครับ จะมีขั้นตอนมีระเบียบแบบแผนอีกแบบ”

“แล้วการ Collaboration กับการเป็น Partnership ก็ต่างกันด้วย การทำธุรกิจในไทย เราต้องไปขอให้คนนั้นคนนี้ช่วย เราคิดว่าเป็นพาร์ทเนอร์กัน แต่สุดท้ายเขากลับขโมยไอเดียไปทำเอง เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่เจอที่ต่างประเทศนะ แต่อย่างน้อยเราระบุได้แน่นอนว่า คนที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ในฝัน ที่ทำงานร่วมกันแล้วเราแฮปปี้มีใครบ้าง แต่ที่ไทยส่วนใหญ่แล้วจะไม่เวิร์ค ซึ่งลำบากมากครับ”

บนเวที Super AI ที่สิงคโปร์

บทที่ 3: อยากเรียนรู้จากคู่แข่ง ต้องรู้จัก Copy ให้เป็น

อีกเรื่องที่คุณเคได้เรียนรู้จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นมายด์เซ็ตที่มาแหวกมากๆ ก็คือ เมื่อคิดจะทำธุรกิจสู้กับคู่แข่ง เราต้องรู้จักลอก (Copy) คนอื่นให้เป็น

“เวลาคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในไทยได้ จะชอบมีคนถามว่า ผลงานของเราต่างกับคนนั้นคนนี้ยังไง ถ้าเขาทำสิ่งนี้ไปแล้ว เราจะทำอีกทำไม ส่วนที่เมืองนอก ถ้ามีคนทำอะไรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็ถือเป็นข้อดีนะ แต่ถ้าเราทำเหมือนเจ้าอื่น เราแค่ต้องหาความแตกต่างในด้านนั้นด้านนี้ให้ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ของเราเหมือนกัน แต่เรามีเซอร์วิสที่ดีกว่า เป็นต้น การมีคู่แข่งจึงดีเพราะหมายความว่าตลาดใหญ่พอให้คนเข้ามาแข่งขันกันได้…”

“แล้วในเชิงการตลาด ถ้าเราเห็นว่าคู่แข่งใช้คำนี้เป็นคีย์เวิร์ด แล้วเราก็ใช้คำนี้ด้วย เราจะไม่เสียเวลารีเสิร์ชต่อเลย การมีคู่แข่งทำให้รู้ว่าคำไหนที่คนค้นหาอยู่แล้ว ขนาดตลาดตอนนี้คือเท่าไหร่ เราไม่ต้องเริ่มทำเองทุกอย่างครับ”

ถึงการลอกจะเป็นสิ่งที่แนะนำ แต่คุณเคยืนยันว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังมีกฎเหล็กของมันอีกด้วย

“เราต้องลอกในสิ่งที่คนทั่วไปมองเห็น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการขโมยครับ เช่น ขโมยข้อมูลที่เป็นความลับ เอาทั้งไฟล์หลังบ้านของเขา ขโมยแผนการทำงาน ขโมยกลยุทธ์ในอนาคตที่ยังไม่เปิดเผยมาเลย กระบวนการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างทางนี่แหละที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่เราต้องคิดต่อเอง”

บทที่ 4: Float16.cloud เปลี่ยนงานวิจัยบนหิ้งให้ปฏิบัติจริงได้

สำหรับโปรเจกต์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน งานที่เขาภาคภูมิใจที่สุดคือการสร้างระบบที่มีชื่อว่า Float16.cloud ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ Generative AI ภาษาไทย ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเทียบเท่ากับ ChatGPT

คุณเคอธิบายคร่าวๆ ว่า Float16.cloud คือ Infrastructure ของ AI เลเยอร์แรก ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การช่วยเหลือให้ผู้ที่ประดิษฐ์หรือคิดค้น GenAI ที่อาจมีประสิทธิภาพดูดีเฉพาะเวลาอยู่บนหน้ากระดาษ ให้สามารถใช้งานได้จริง และสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้นได้จริงๆ โดยมีกรณีตัวอย่างสำคัญที่เขาและทีมงานลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วนั่นคือ การช่วยให้ OpenThaiGPT ซึ่งเป็น GenAI ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้คนไทยสามารถมาพูดคุย ถามตอบเป็นภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ตอนที่ OpenThaiGPT เทรนโมเดลเสร็จแล้วเตรียมปล่อยโมเดลให้คนใช้งานเมื่อ 2 เดือนก่อน แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาจริง ไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการ Host เราก็เลยได้รับการติดต่อให้ไปช่วยแก้ไข…

Float16.cloud ช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็มของระบบ จากที่เมื่อก่อน OpenThaiGPT ถือเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งแต่ไม่สามารถใช้งานจริงได้ เราก็หยิบเอาบนหิ้งให้ใช้งานทางธุรกิจได้จริง หากเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนเขาทำพิมพ์เขียวมาแล้ว แล้วเราก็เป็นโรงงานที่มีทรัพยากรในการผลิต พร้อมผลิตสิ่งของนั้นให้ออกมาจับต้องได้จริง ประมาณนี้ครับ”

คุณเคเล่าว่า Alibaba ก็เป็น Partner อีกเจ้าที่ชวนให้ Float16.cloud ไปช่วยโฮสต์ให้กับโมเดล SeaLLM-7b-v2 ที่ Alibaba พัฒนาขึ้น ให้สามารถใช้งานจริงได้ แสดงให้เห็นว่าขนาดบริษัทระดับโลกยังเชื่อมั่นในบริการของ Float16.cloud หมายความว่าสิ่งที่เขาและทีมงานทุกคนร่วมทำกันมานั้นมีคุณค่าเพียงใด

บทที่ 5: AI Hype is Real!

ในแต่ละปี จะมี Buzzword ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีเป็นกระแสให้คนพูดถึงเสมอ เช่น Blockchain, Metaverse, Cryptocurrency, NFT รวมถึง AI ในปัจจุบันด้วย แต่แทบทุกคำ กระแสมักจะมาไวและไปไว อย่างทุกวันนี้แทบไม่มีใครสนใจเรื่อง Metaverse หรือ NFT อีกต่อไปแล้ว 

แต่ AI จะลงเอยแบบเดียวกับคำอื่นๆ ไหม คุณเคมองว่าทุกอย่างล้วนมีวัฏจักรของมัน ต้องมีช่วงขาขึ้นและมีช่วงขาลงเสมอ และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน กระแส AI ตอนนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงพีคขั้นสุด

แล้วอย่างนี้ มันใกล้จะถึงช่วงขาลงแล้วรึยัง?

“กระแสไฮป์ AI ครั้งนี้ค่อนข้างนานนะ หลายปีก่อนเคยมีไฮป์หนักๆ ครั้งหนึ่ง ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกตอนนั้นก็คล้ายกับตอนนี้ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ เราไม่ได้ตั้งคำถามเรื่อง AI หลายๆ เรื่องแล้ว เช่น การทำ Image Detection ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องปกติ ตอนนี้เทคโนโลยีมันฉลาด และค่อนข้างแน่นอนกว่าเมื่อก่อนมากแล้วครับ”

“ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะไฮป์ไปถึงไหนนะ มันอาจมีบางช่วงที่คนไม่ได้สนใจมันมาก ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะสักประมาณปีหน้า กระแสน่าจะเริ่มตกลงแล้ว แต่ในอนาคตระยะยาว AI จะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราอย่างแน่นอนครับ”

บทส่งท้าย: อยู่กับความล้มเหลวให้เป็นแล้วเดินหน้าต่อ

ในระยะเวลาไม่กี่ปี คุณเคสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของแวดวง AI ในประเทศไทย และกำลังต่อยอดความสำเร็จไปในระดับโลกยิ่งขึ้น แม้ว่าปัจจุบันเขาอาจยังไม่ได้มีอายุมากเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่ายังไม่ใช่คนที่การประสบความสำเร็จอะไรขนาดนั้น คุณเคย้อนกลับไปมองชีวิตตัวเองแล้วพบว่า กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ไม่เคยมีคำว่าง่ายเลย เพราะโอกาสมักจะมาตอนไม่พร้อม ดังนั้นต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอ

“มีหลายคนมองว่าผมเก่ง มีไฟ ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย แต่ผมไม่อยากให้เรื่องราวของผมเป็นเรื่องเล่าแบบนิทาน ที่ต้องมีตัวเอกเป็นฮีโร่ ผมอยากให้เรื่องราวในชีวิตของผมเป็นเหมือนไดอารี่ เป็นบันทึกการเดินทางมากกว่าครับ เพราะผมก็เป็นแค่คนธรรมดาเหมือนทุกคนที่ล้มเหลวเป็น แต่ลุกขึ้นมาเดินต่อได้”

“บางอย่างที่ผมทำ ทำไปแล้วขาดทุนก็มีเยอะนะครับ มีหลายโปรเจกต์ที่ล้มเหลว แต่ทุกอย่างที่ผมทำไปก็เพื่อให้ Community เติบโต ถ้าเราทำสิ่งที่มีประโยชน์ ช่วยให้ทุกคนได้ประโยชน์ มันย่อมดีกว่าเสมอ และผมเชื่อว่าการอยู่ในสายงานด้าน AI เปิดโอกาสให้ผมสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนได้จำนวนมากครับ”

“แต่ก็อยากฝากไว้ด้วยครับว่า อยากให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่กับความล้มเหลวบ้าง อย่ากลัวความล้มเหลวครับ อย่าลืมว่าไม่มีใครสำเร็จในวันแรกหรอก มันอาจทรมาน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะชินกับมันแล้วมันจะทำให้เราเติบโตครับ” คุณเคทิ้งท้าย

Newsletter แนะนำในเครือ Insiderly Publication

Insiderly AI - Global EditionTransform your business with expert AI guidance and practical insights.
Money ZenAutomate your finances, elevate your life

Reply

or to participate.