• Insiderly AI - TH
  • Posts
  • เจาะความคิด นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ นายแพทย์-นักเรียน-นักคิดการใหญ่ ผู้ตั้งมั่นปฏิวัติวงการแพทย์ไทย ด้วย Medical AI ระดับโลก

เจาะความคิด นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ นายแพทย์-นักเรียน-นักคิดการใหญ่ ผู้ตั้งมั่นปฏิวัติวงการแพทย์ไทย ด้วย Medical AI ระดับโลก

เจาะความคิด นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ นายแพทย์-นักเรียน-นักคิดการใหญ่ ผู้ตั้งมั่นปฏิวัติวงการแพทย์ไทย ด้วย Medical AI ระดับโลก

ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ลองคิดภาพว่าหากหมอ พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์นำ AI มาช่วยดูแลรักษาคนไข้ ช่วยให้โรคที่เคยต้องใช้เวลาวินิจฉัยนาน สามารถรักษาได้อย่างถูกจุดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า จะส่งผลที่ดีเพียงใดต่อมนุษยชาติ

แม้ปัจจุบัน วงการแพทย์ไทยอาจยังไม่ได้นำ AI มาใช้งานมากนัก แต่ก็มีแพทย์คนหนึ่งที่มุ่งมั่นอยากนำมาช่วยรักษาคนไข้ และช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรให้ได้ นั่นคือ นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ อาจารย์จากโรงพยาบาลศิริราช ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มเทคโนโลยี PreceptorAI ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปวงการนี้โดยเฉพาะ

อะไรที่ทำให้เขามุ่งมั่นด้านนี้? และ AI จะช่วยปฏิวัติวงการแพทย์ไทยได้จริงหรือไม่? มาหาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์นี้

หมอผู้ตั้งมั่น อยากเห็นสังคมหมอมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นพ.ปิยะฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความใฝ่ฝันว่าอยากทำงานเป็นอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเลือด

แต่ช่วงที่เขาเป็นนักศึกษาแพทย์ ต้องไปประจำการอยู่ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์สุดโหดเมื่อต้องทำงานข้ามวันข้ามคืนอยู่บ่อยครั้ง เพราะโรงพยาบาลในต่างจังหวัดมีหมอค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณคนไข้ทั้งหมด

“ความต้องการหมอในตลาดแรงงานสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ชนิดที่ต่อให้ผลิตเพิ่มขึ้นแค่ไหนก็ยังไม่พอ มากไปกว่านั้นหมอที่อยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลเล็กๆ จะยิ่งมีภาระงานมาก จำนวนหมอต่อคนไข้น้อยกว่าในกรุงเทพมาก จริงอยู่ว่าการเร่งผลิตแพทย์ออกมาพอจะช่วยได้บ้าง แต่ปัจจุบันแพทย์ที่อยู่ในระบบราชการก็ลดลงในอัตราที่มากขึ้นด้วย ทำให้ไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยครับ”

นพ.ปิยะฤทธิ์ เน้นย้ำเลยว่า ช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดคือช่วงที่สภาวะการทำงานของแพทย์ย่ำแย่และหนักหนาขั้นสุด จนเข้าใจเลยว่าทำไมแพทย์ที่อยู่ในระบบราชการถึงลาออกกันเป็นว่าเล่น

“บางทีผมต้องอยู่เวร 32 ชั่วโมงติด ถือเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างเลวร้ายครับ เมื่อหมอต้องอยู่เวรหลายสิบชั่วโมง พอรักษาคนไข้ไปเรื่อยๆ ก็ต้องมีอาการมึนงงกันบ้าง เราจะไม่มีทางรักษาคนไข้ให้ดีได้เลย ช่วงนั้นผมเลยคิดว่าพอจะมีอะไรบ้างไหมที่ช่วยให้หมอทำงานดีขึ้น ในขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์เท่าเดิม แล้วก็พบเรื่องการใช้ AI มาช่วยแพทย์ในการทำงานนี่แหละ ที่อาจจะเป็นคำตอบ”

“นั่นทำให้ผมคิดว่า ถ้าผมทำงานแบบเดิม ทั้งชีวิตผมอาจรักษาคนได้ประมาณ 10,000 คน หรืออย่างมากก็ 100,000 คน แต่ถ้าผมเอาเทคโนโลยี เอา AI เข้ามาใช้ ผมจะช่วยคนได้เยอะกว่านั้นอีกหลายเท่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนจากจะขอทุนโครงการนวเมธีศิริราช หรือทุนอาจารย์แพทย์นักวิจัย ไปศึกษาเฉพาะทางโรคเลือด เป็นการขอทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกด้าน Medical AI ที่ประเทศอังกฤษครับ” คุณหมอนักเรียนทุนอธิบาย

เทคโนโลยีต้องช่วยแก้ความซับซ้อนให้ใช้งานง่าย

นอกจากจำนวนแพทย์จะไม่เพียงพอแล้ว อีกปัญหาที่ นพ.ปิยะฤทธิ์ เจอบ่อยก็คือการต้องทำงานที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์โดยตรง เช่น เอกสารสารพัด โดยเฉพาะเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลคนไข้ที่มีความยุ่งยาก วุ่นวาย และซับซ้อน บ่อยครั้งจะต้องกรอกข้อมูลลงในกระดาษก่อนแล้วค่อยเอาเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเสียเวลาอันมีค่าโดยไม่จำเป็น

หรือบางครั้ง การใช้แอปพลิเคชัน LINE ส่งข้อมูลคนไข้ก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เช่น ช่วงที่โรคโควิด-19 พีคๆ ต้องจัด Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก คนไข้ต้องส่งข้อมูลให้ทีมแพทย์และพยาบาล เช่น ผลการวัดออกซิเจนของแต่ละคนทุก 4 ชั่วโมง รวมแล้วหลายร้อยข้อความ ซึ่งจะต้องเอาข้อมูลมาป้อนลงในเอกสารอีกที 

และบ่อยครั้งข้อมูลใน LINE ยังตกหล่นได้ง่ายๆ เช่น เปิดแล้วลืมจด เป็นอีกปัญหาน่าปวดหัวที่ถ่วงเวลาทำงานให้ช้าลง ทำให้งานที่เหนื่อยอยู่แล้วยิ่งเหนื่อยเข้าไปอีก

นพ.ปิยะฤทธิ์ พบทางออกว่าการสร้าง AI จากการร่วมมือกับอาจารย์ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร จาก VISTEC, ทีม Medensy นำโดยพญ.แสนดี รัตนสมฤกษ์ และยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน เช่น ปตท. และ AWS ทำให้ทีมมี AI มาช่วยดูผลออกซิเจน และอัตราการเต้นหัวใจ ช่วยลดภาระในแต่ละวันลงได้มหาศาล

และเมื่อข้อมูลอยู่ในจุดที่มันควรอยู่แล้ว หากแพทย์สืบค้นต่อก็จะรู้ได้ทันทีด้วยว่า ณ ตอนนี้ควรต้องรีบรักษาผู้ป่วยท่านใดเป็นหลัก ไม่ใช่ตรวจดูตามลำดับข้อความที่ส่งมาใน LINE ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยบางท่านที่ต้องได้รับการรักษาด่วนอาจจะตกหล่นไป

“นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ที่ AI สามารถช่วยยกระดับแวดวงสาธารณสุขได้ทันที และสุดท้ายยังต่อยอดสู่การตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารนานาชาติชั้นนำอีกด้วยครับ” นพ.ปิยะฤทธิ์ ยกตัวอย่าง

ความตื่นตัวด้าน AI ที่ไทย แม้ยังน้อยแต่ก็พอมีหวัง

ดังที่กล่าวว่าปัจจุบัน นพ.ปิยะฤทธิ์ กำลังศึกษาเรื่อง Medical AI ที่ประเทศอังกฤษ การเดินทางข้ามมหาสมุทรหลายพันกิโลเมตรทำให้เขาพบว่า ผู้คนในต่างแดนตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยีกันมากเพียงใด ซึ่งมากกว่าที่เมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ

“ที่อังกฤษเขามองว่า สิ่งไหนที่นำมาปรับใช้แล้วเชื่อถือได้ก็จะมีการวางระบบ มีงานวิจัยที่ศึกษาต่อยอดออกมามากมาย นอกจากนั้น ที่นี่ยังเอาบทเรียนเรื่อง AI เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ด้วยครับ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการสอนในหลักสูตรอย่างเป็นทางการ”

“เราต้องยอมรับว่า AI นั้นเข้าใกล้เรามากขึ้นเรื่อยๆ และอันที่จริงมันเริ่มเข้ามามีบทบาทในศาสตร์อื่น เช่น สายการเงิน (Finance) มากแล้ว เป็นต้น”

อีกสิ่งที่ นพ.ปิยะฤทธิ์ พบก็คือวงการสาธารณสุขไทยยังหวาดกลัวว่า AI จะทำให้หมอตกงาน และถ้าเอามาใช้รักษาคนไข้เต็มตัว จะเชื่อมั่นได้จริงหรือไม่ ทั้งที่หากเทียบข้อดีข้อเสียกันแล้ว ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ AI นั้นย่อมมีมากกว่า ทั้งช่วยรักษาคนไข้ได้มากขึ้น และแบ่งเบาภาระได้มากขึ้น

คุณหมอยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่มีประโยชน์และน่าทึ่งมากๆ นั่นคือการตรวจชิ้นเนื้อของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่จะช่วยให้ได้ผลตรวจเร็วกว่าเดิมหลายเท่า

“สมมติว่าเรามีคนไข้เป็นมะเร็ง ต้องตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ พอตัดชิ้นเนื้อเสร็จ เราจะเอาไปส่งห้อง Lab ให้ส่องและวิเคราะห์เนื้อเยื่อ ที่นั่นจะมีพยาธิแพทย์เป็นคนตรวจว่าป่วยเป็นมะเร็งชนิดไหน ที่ผ่านมาหมอที่สามารถดูเนื้อเยื่อแล้ววินิจฉัยได้ว่า คนไข้ป่วยเป็นมะเร็งอะไร ต้องผ่านการเทรนเป็น 10 ปี แต่ตอนนี้เราสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยวินิจฉัยได้แล้ว แม้หลายครั้งอาจยังไม่แม่นยำเท่าแพทย์เฉพาะทาง แต่อย่างน้อยก็ช่วยคัดกรองระดับเบื้องต้นได้”

ทีเด็ดขั้นกว่านั้นก็คือ นอกจาก AI จะวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ มันยังสามารถทำนายด้วยความแม่นยำระดับหนึ่งได้ด้วยว่า เนื้อเยื่อมีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมอย่างไร ซึ่งปกติต้องจ่ายเงินนับแสนบาทจึงจะได้ข้อมูลลึกแบบนี้ และที่สำคัญหลายครั้งหากส่งไปวิเคราะห์ในห้อง Lab ก็อาจจะไม่เจอความผิดปกติใดๆ ด้วย

แต่หาก AI เห็นว่าอาจมีการกลายพันธุ์ ก็จะทำให้แพทย์มั่นใจขึ้นว่ามีโอกาสใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงช่วยรักษาคนไข้ได้เร็วขึ้น แต่ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ดีขึ้นเช่นกัน

กระนั้น นพ.ปิยะฤทธิ์ ยอมรับว่า แม้ AI จะสามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้ล้ำแบบนี้แล้ว มันก็ยังไม่เก่งกาจเท่าพยาธิแพทย์ระดับอาจารย์อยู่ดี อย่างไรก็ตาม หากมองด้านบวกถือว่าช่วยทุ่นแรงได้มากโข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีพยาธิแพทย์ไม่มากนัก แต่มีจำนวนผู้ป่วยที่เยอะกว่ากันหลายเท่าตัว

เพิ่มมูลค่าตัวเองด้วยการใช้ AI ป้องกันไม่ให้ใครมาแย่งงาน

แม้จะสนับสนุนให้เอา AI มาช่วยงานแพทย์ แต่ นพ.ปิยะฤทธิ์ ย้ำเตือนตลอดว่าถึง AI จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่ผู้ใช้งานต้องอย่าเชื่อข้อมูลจาก AI 100 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ตรวจสอบก่อน

นพ.ปิยะฤทธิ์ ยกตัวอย่างการใช้ AI สร้างภาพ Computer Vision ด้วยข้อมูลจากฟิล์มเอกซเรย์ของคนไข้ว่า หากในรูปมีรอย มีขีด หรือมีสิ่งผิดปกติบางอย่างเพียงนิดเดียว AI ก็อาจตีความภาพนั้นผิดทันที (Computer Vision คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถมองเห็น เข้าใจ จดจำ วิเคราะห์ และอธิบายภาพได้)

“หรือการเอา ChatGPT มาใช้หาข้อมูล คำตอบที่ได้จากมันจะหล่อมาก ดูแนบเนียนมาก ทั้งที่จริงมันอาจตอบผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้ เรามองเห็นว่ามันมีประโยชน์เยอะ แต่เราก็ยังต้องตรวจสอบข้อมูลของมันอย่างละเอียดด้วยครับ”

สื่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ก้าวแรกของการเอา AI มาใช้เท่านั้น คุณหมอนักพัฒนาเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า AI จะก้าวล้ำในอีกหลายสายงาน จะมีความฉลาดล้ำขึ้น แม่นยำขึ้น แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะสุดท้ายแล้ว ปัญญาประดิษฐ์จะไม่ได้มาแทนที่คน ไม่ได้ทำให้แพทย์ตกงาน แต่จะมาช่วยทำงานให้ดีขึ้นต่างหาก

“แพทย์ที่รู้จักใช้ประโยชน์จาก AI จะเพิ่มมูลค่าของตัวเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับแพทย์ที่ไม่ใช้งานครับ” แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชยืนยัน

PreceptorAI ความหวังใหม่ ช่วยยกระดับวงการแพทย์ไทยทัดเทียมนานาชาติ 

นอกจากจะเป็นนักเรียนทุนและเป็นว่าที่อาจารย์หมอจากโรงพยาบาลศิริราช นพ.ปิยะฤทธิ์ ยังเป็นหัวหน้าทีม และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ PreceptorAI ที่มีเป้าหมายว่าจะนำ Medical AI มาช่วยงานแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพในบ้านเกิดเมืองนอน

นพ.ปิยะฤทธิ์ อธิบายให้ฟังว่า PreceptorAI คือแพลตฟอร์มให้ข้อมูลที่คล้ายคลึงกับ ChatGPT แต่เป็นแหล่งรวมข้อมูลด้านการแพทย์โดยเฉพาะ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนสามารถค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ เป็นภาษาไทยได้เลย ช่วยให้มั่นใจว่าจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และรวดเร็วเมื่อเทียบกับข้อมูลจากแพลตฟอร์มอื่น

“ที่ผ่านมา เวลาเทรน AI จะใช้ฐานข้อมูลจากทางตะวันตก แต่บ่อยครั้งข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถปรับใช้กับบริบทของสังคมไทยหรือบริบทของอาเซียนได้ PreceptorAI จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยยกระดับการรักษาคนไข้ในระดับประเทศและระดับภูมิภาคไปอีกขั้นครับ”

คุณหมอยังเผยอีกว่า นอกจากการให้ข้อมูลทางการแพทย์ผ่านทาง LINE Official หรือเว็บไซต์ที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ทางทีมงานกำลังดำเนินการขออนุญาตองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ISO และ อย. เพื่อจะนำระบบของ Preceptor AI เข้าไปเชื่อมต่อโดยตรงกับโรงพยาบาล เพื่อช่วยทำให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานง่ายขึ้นด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ นพ.ปิยะฤทธิ์ เชื่อว่าหากภาครัฐส่งเสริมให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้อย่างเต็มประสิทธิภาพล่ะก็ จะกลายตัวแปรสำคัญที่สร้าง S-Curve ใหม่ให้กับประเทศไทยด้วย

“ธุรกิจด้าน Medical AI ไม่เพียงช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ยังช่วยลดการทำงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศได้อย่างเห็นผลครับ”

“สุดท้ายนี้ผมหวังว่าภาพที่เราเคยเห็นไม่ว่าจะเป็น คนไข้มารอตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง แต่ได้เจาะเลือดตอน 9-10 โมง แล้วรอฟังหมอบอกผลเลือดตอนบ่าย เพื่อพบว่าไม่เป็นอะไรมาก สามารถรับยากลับบ้านได้เลย ซึ่งเสียเวลา และอาจทำให้บางท่านอาการแย่ลงเสียก่อน เป็นต้น ภาพเหล่านี้จะลดลง ผมมั่นใจว่าถ้าเราเอา AI มาช่วยงาน จะทำให้บางท่านกลับบ้านแล้วรอผลแบบ Telemed ได้เลย หรือท่านที่ควรได้รับการรักษาโดยทันทีก็จะไม่ต้องรอนานอีกต่อไป”

“ทั้งหมดนี้แม้จะมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนเท่าเดิม แต่ก็จะสามารถช่วยดูแลคนไข้ได้มากขึ้นหลายเท่าแน่นอนครับ” ผู้ก่อตั้ง PreceptorAI ทิ้งท้าย

ติดตาม Preceptor AIได้ที่นี่

เว็บไซต์และ Newsletter อื่นที่น่าสนใจ

Reply

or to participate.