• Insiderly AI - TH
  • Posts
  • Then, Now and Futures of Health and Wellness ขีดชะตาสุขภาพของประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีและมือเรา

Then, Now and Futures of Health and Wellness ขีดชะตาสุขภาพของประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีและมือเรา

Then, Now and Futures of Health and Wellness ขีดชะตาสุขภาพของประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีและมือเรา

นับวันโลกยิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้สามารถชี้ชะตาได้เลยว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร และหากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพได้อย่างเข้าเป้าล่ะก็ มันจะช่วยขีดเขียนอนาคตที่สดใสให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales LAB by MQDC ร่วมกันจัดงานเสวนา “Futures of Health and Wellness in Thailand 2033 อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย 10 ปีข้างหน้า” ณ สยามพารากอน เพื่อคาดการณ์ว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในวันนี้ จะส่งผลต่อโลกอนาคตอย่างไรบ้าง 

ในงานนำเสนอเรื่องราวด้านสุขภาพไว้มากมาย แต่ Insiderly.ai ขอสรุปเนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อ่านได้เลยในบทความนี้

Thailand Health Check สุขภาพเสี่ยงวิกฤติที่เปี่ยมด้วยโอกาส

ก่อนจะไปคาดการณ์ว่า สุขภาพคนและประเทศไทยจะเป็นเช่นไรในอีก 10 ปีข้างหน้า นายแพทย์ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ อาจารย์จากศูนย์สารสนเทศและนวัตกรรมข้อมูลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เริ่มปูพื้นด้วยการเล่าถึง Thailand Health Check หรือสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนไทยในปัจจุบันก่อนว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเพศหญิงจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 81.05 ปี ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 74.92 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

อีกเรื่องที่ส่งสัญญาณด้านบวกก็คือ คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กเจนซี (Gen Z ) มีความรู้ความเท่าทันด้านสุขภาพมากกว่าคนในวัยอื่นๆ ถึง 2 เท่า นั่นหมายความว่าเขาจะดูแลตัวเองดี และจะเป็นตัวอย่างให้คนในวัยอื่นๆ เอาเยี่ยงเอาอย่างด้วย

แต่สิ่งที่น่ากังวลก็มีหลายอย่าง ถึงแม้เราจะมีอายุยืนนานขึ้น แต่มันบ่งชี้เช่นกันว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว มีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ขณะเดียวกันผู้คนก็ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บทั้งเก่าและใหม่ที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด-19, โรคติดสุราเรื้อรังที่ล่าสุดมีสถิติว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 20% รวมถึงโรคเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM2.5 เป็นต้น

อีกปัญหาที่นายแพทย์ปิยะฤทธิ์มองว่าสำคัญก็คือ ประเทศไทยยังขาดบุคลากรทางการแพทย์อีกมาก แม้ทุกปีจะมีคนสมัครเรียนหมอเยอะแค่ไหน ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

“ในประเทศไทย มรอัตราส่วนของแพทย์ 6.5 คน ต่อคนไข้ 10,000 คน แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว อัตราส่วนของแพทย์จะอยู่ที่ 20 คนต่อคนไข้ 10,000 คน และถึงแม้เราจะผลิตแพทย์ได้เยอะ แต่ก็มีแพทย์ที่ทยอยลาออกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีเท่าที่ควรครับ เป็นความท้าทายที่เราจะต้องทำให้อัตราสาวนเกิดความสมดุลกว่านี้ให้ได้”

ถึงปัญหาต่างๆ จะรุมเร้าเยอะมาก แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นว่า คนไทยจะฝ่าวิกฤติทุกอย่างไปได้แน่นอน หากใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพมากขึ้น

“เทคโนโลยีในปัจจุบัน มีหลายอย่างที่น่าสนใจและสามารถพัฒนาต่อได้ครับ ตอนนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวกับปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI อีกไม่นาน เราจะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น การเอา AI มาช่วยวิเคราะห์และตรวจพันธุกรรม ซึ่งจะช่วยให้เราทำนายได้ว่า แต่ละคนมียีนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ และเราสามารถทำ Gene Therapy หรือการเปลี่ยนยีนให้หายขาดจากโรคได้เลยครับ” 

นายแพทย์ปิยะฤทธิ์ ยืนยันว่าหากทำได้ตามเป้าที่วางไว้ จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับด้าน Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากขึ้น จะดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมารักษาในประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตสูงถึง 7.6 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 เลยทีเดียว 

คาดการณ์ 10 ปีต่อไป สุขภาพของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับมือเรา

หลังรับรู้สถานการณ์ปัจจุบันด้านสุขภาพของคนไทยไปแล้ว ไฮไลท์ต่อมาของงานคือการเปิดเผยผลการค้นคว้าวิจัยหัวข้อ “Will We Be Well? Tales from the Futures” โดยคุณวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales LAB by MQDC มาอธิบายว่า จากการทำนายภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน จะส่งผลให้อนาคตในปีพ.ศ. 2576 เป็นอย่างไร โดยมีได้ 5 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1.The Dusk of Healthcare : สิ้นแสงสาธารณสุข

อนาคตแบบนี้ อาจดูสิ้นหวังที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ เพราะประเทศไทยจะโดนปัญหารุมเร้าทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นจากขาดการเตรียมแผนรองรับสุขภาพคนไทยที่ดี ขาดแคลนทรัพยากร ขาดบุคลากร และขาดการบริหารงบประมาณที่ดี ส่งผลให้ท้ายที่สุดระบบสาธารณสุขย่ำแย่และล่มสลาย

2.Public Health Meridian : ระบบสุขภาพทั่วหล้า

อนาคตแบบนี้จะเกิดขึ้นได้หากการขับเคลื่อนระบบในระดับชาติอยู่ในระดับที่ดี โดยมีรัฐบาลเป็นแกนกลางขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการส่งเสริมสุขภาวะให้ประชาชน สนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคด้านสุขภาพ ประชาชนไม่เพียงมีความรู้มากขึ้นเรื่องการดูแลตัวเอง แต่ยังมีความหวังว่าชีวิตจะลงเอยในทางที่ดีได้

อย่างไรก็ตาม อนาคตรูปแบบนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่พอสมควร ประชาชนอาจยังเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ไม่ครบถ้วน และถึงแม้รัฐบาลจะมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ก็จะยังขาดความสม่ำเสมอในการแก้ปัญหา

3.Medtech Twilight : ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง

อนาคตรูปแบบนี้ เกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนาก้าวหน้า มีการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น AI มาใช้ในการวิจัยและรักษาผู้คนมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น จำนวนผู้คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยได้ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แต่อนาคตรูปแบบนี้จะยังมีปัญหาอยู่บ้าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยังไม่หายไป เมื่อคนที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยได้จะต้องอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น และอาจเกิดปัญหาการใช้นวัตกรรมโดยขาดการคำนึงถึงจริยธรรมที่ดี

4.Dawn of Wellness : รุ่งอรุณสุขภาวะ

ภาพอนาคตนี้จะต่อยอดด้านเทคโนโลยีขึ้นมาอีกขั้น เมื่อประเทศไทยจะสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่การพัฒนาเมือง พัฒนาสังคมได้เต็มที่ และได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้พัฒนานวัตกรรม ไม่ใช่แค่ผู้ใช้นวัตกรรมเท่านั้น

และเมื่อมีเทคโนโลยีที่ดี ก็ส่งผลให้สุขภาวะของคนในสังคมออกมาดี องค์กรของภาครัฐและเอกชนหันมาลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง ส่งเสริมบริการด้านสุขภาพให้มีความแข็งแรง และส่งให้ประเทศไทยยิ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในฐานะ Medical Tourism เป็นเป้าหมายของคนทุกชาติว่า ถ้าอยากมีสุขภาวะที่ดี ต้องมาที่นี่เท่านั้น

5.Zenith of Self-care : สุขภาพสุขสมบูรณ์

อนาคตแบบนี้ คือการคาดการณ์ภาพที่ดีที่สุด ประเทศไทยจะพัฒนาจนสมบูรณ์แบบ สามารถดูแลสุขภาพประชาชนผ่านการกระจายอำนาจอย่างสมดุล ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในเมือง แต่สามารถดูแลรักษาสุขภาพได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าต้องการจริงๆ ก็สามารถรับบริการจากสาธารณสุขชุมชนใกล้บ้านได้เลย

“อนาคตทั้ง 5 แบบนี้สามารถเป็นไปได้ทั้งสิ้นค่ะ ขึ้นอยู่กับทุกคนในปัจจุบันแล้วว่า จะช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนให้ออกมาเป็นเช่นไร” คุณวิพัตราทิ้งท้าย

Reply

or to participate.